คำถาม : ขายรังนกแห้งบรรจุหีบห่อติดเครื่องหมายการค้าและรหัสสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยว หรือถ้าเราซื้อสินค้ายกเว้นภาษี เช่น ปลาหมึกแห้ง ปลาแห้ง ไม่มีสารปรุงแต่งใดๆ แล้วนำมาแพค ซีลปิดผนึก และซีลสูญญากาศ ใส่ถุงแก้วใส แบบถุงละ 100 บาท หรือขายเนื้อสดบรรจุใส่แพ็คซีนสูญญากาศ ขายผ่านออนไลน์ สินค้าแบบนี้ต้องเสีย VAT ไหม? และถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจด VAT หรือไม่
คำตอบ : การขายผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์เช่นรังนกแห้ง โดยรังนกดังกล่าวยังคงลักษณะเป็นวัตถุพลอยได้จากนกอีแอ่นมาจัดทำโดย “มิได้ปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน” ที่อยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียในระหว่างขนส่ง หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง พร้อมทั้งติดเครื่องหมายการค้าและรหัสสินค้า ซึ่งขายให้แก่นักท่องเที่ยวนั้น ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ขยายความเพิ่ม
ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์มาจัดทำโดย “มิได้ปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน” และผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวยังคงลักษณะเป็นเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ที่อยู่ในสภาพสด หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียในระหว่างขนส่ง หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง ซึ่งเมื่อมีการเปิดจะต้องมีการฉีก ทำลาย แปรรูปหรือแปรสภาพ ของภาชนะหรือการผนึกนั้น ทั้งนี้ โดยมิอาจคงสภาพในรูปรอยเดิมได้ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 29/2535 ฯ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ดังกล่าวข้างต้น แต่หากมีการนำสัตว์ดังกล่าวมา ปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใด รวมถึงแปรสภาพเป็นอาหาร ที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะหรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ที่มีการบรรจุอย่างมั่นคง จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
อ้างอิง
กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ การขายสัตว์ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ในราชอาณาจักร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 29/2535 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้
....“ข้อ 1 การขายสัตว์ไม่มีชีวิต เนื้อ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ในราชอาณาจักรในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
........(1) การขายผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเกิดจากการนำเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ มาจัดทำโดยปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวยังคงลักษณะเป็นเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ที่อยู่ในสภาพสด หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียในระหว่างขนส่ง หรืออยู่ในลักษณะที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง
........(2) การขายน้ำมันที่สกัดจากสัตว์ ไม่ว่าจะมีสารปรุงรสหรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันผสมอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ เฉพาะที่บรรจุกระป๋องภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง
........(3) การขายน้ำนมจากสัตว์ที่ได้นำมาจัดทำหรือปรุงแต่งไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ และไม่ว่าจะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคงหรือไม่แต่ไม่รวมถึงนมสดที่มิได้มีการปรุงแต่ง รสกลิ่น หรือสี
........(4) การขายเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม สัตว์ไม่มีชีวิต และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ที่ได้แปรรูปหรือแปรสภาพเป็นอาหารหรือสินค้าอื่นที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) แล้ว ทั้งนี้ ไม่ว่าอาหารหรือสินค้าอื่นนั้นจะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคงหรือไม่
....ข้อ 2 การขายสัตว์ในราชอาณาจักรในกรณีดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
........(1) การขายสัตว์มีชีวิต
........(2) การขายหนังสัตว์ที่ยังไม่ได้ฟอก
........(3) การขายเนื้อสัตว์ ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม สัตว์ไม่มีชีวิตและวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ที่ไม่เข้าลักษณะ ตามข้อ 1
....ข้อ 3 คำว่า “ที่ผนึกในลักษณะมั่นคง” ตามข้อ 1 และข้อ 2 หมายความถึงการติดหรือปิดให้แน่นไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งเมื่อมีการเปิดจะต้องมีการฉีก ทำลาย แปรรูปหรือแปรสภาพ ของภาชนะหรือการผนึกนั้น ทั้งนี้ โดยมิอาจคงสภาพในรูปรอยเดิมได้”
ส่วนเรื่องภาษีเงินได้ ต้องเสียอยู่แล้ว โดยขึ้นอยู่กับรูปแบบของการทำธุรกิจ อ่านต่อ
ที่มา
TaxBugnoms
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1825862600798041&id=573386346045679&set=a.606417289409251
https://www.facebook.com/Suthep.Pongpitak/photos/a.606417289409251/4592433824140891/?type=3&locale=th_TH