ในปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายของออนไลน์ ขายของแบบมีหน้าร้าน หรือการบริการต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ แต่ว่าก็ยังมีหลายธุรกิจที่เปิดขึ้นมาใหม่โดยไม่รู้ว่าจะต้องจดทะเบียนการค้าก่อน และเปิดทำการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทางสรรพากรต้องเป็นฝ่ายติดต่อมาเอง จนทำให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
ดังนั้นหากใครมีธุรกิจแล้วไม่อยากให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว ก็ควรจดทะเบียนการค้าให้เรียบร้อยเสียก่อน หากไม่รู้ว่าวิธีจดทะเบียนการค้าต้องทำอย่างไร สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ออนไลน์ได้หรือไม่ และจะต้องเตรียมอะไรบ้าง วันนี้เรามาดูกัน
1. ใครมีหน้าที่จดทะเบียนการค้า
ก่อนจะทำการจดทะเบียนการค้า ต้องตรวจสอบก่อนว่าธุรกิจที่กำลังจะเปิดหรือกำลังดำเนินกิจการอยู่นั้นอยู่ในเกณฑ์ของผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพานิชย์หรือไม่ โดยผู้ที่มีหน้าที่ในการจดทะเบียนพาณิชย์ตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งไว้มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้
-
บุคคลธรรมดาคนเดียวหรือกิจการที่มีเจ้าของคนเดียว
-
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
-
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
-
บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
-
นิติบุคคลต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาภายในประเทศไทย
2. กิจการที่ต้องจดทะเบียนการค้า
สำหรับธุรกิจหรือกิจการที่ต้องทำการจดทะเบียนการค้าตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคลต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาภายในประเทศไทย ที่ประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
-
กิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
-
กิจการขายสินค้าที่ขายภายใน 1 วันได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าเพื่อขายและมีมูลค่ารวมเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
-
นายหน้าหรือตัวแทนการค้าที่ทำการเกี่ยวกับสินค้า และสินค้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นในวันใดวันหนึ่งเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
-
กิจการหัตกรรมหรืออุตสาหกรรมที่ขายสินค้าที่ผลิตได้ และสินค้ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นในวันใดวันหนึ่งเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่ผลิตได้มีมูลค่ารวมตั้งแต่ 500 ขึ้นไป
-
กิจการขนส่งทางทะเล ขนส่งโดยเรือกล หรือเรือยนต์ประจำทาง ขนส่งโดยทางรถไฟ ขนส่งโดยรถราง หรือขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง
-
กิจการรับซื้อ-ขายที่ดิน ขายทอดตลาด การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การทำโรงรับจำนำ และการทำโรงแรม
-
กิจการขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี แถบบันทึก วิดีทัศน์ แผ่นวิดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวิดีทัศน์ และระบบดิจิทัลเฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
-
กิจการขายอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
-
กิจการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-
กิจการบริการอินเทอร์เน็ต
-
กิจการให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
-
กิจการตลาดกลางในการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-
กิจการให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
-
กิจการให้บริการเครื่องเล่นเกม
-
กิจการให้บริการตู้เพลง
-
กิจการโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง รวมถึงการค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่ประกอบกิจการ ดังต่อไปนี้
-
กิจการขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิตแผ่นซีดี แถบบันทึก วิดีทัศน์ แผ่นวิดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวิดีทัศน์ และระบบดิจิทัลเฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
-
กิจการขายอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
-
กิจการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-
กิจการบริการอินเทอร์เน็ต
-
กิจการให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
-
กิจการตลาดกลางในการซื้อ-ขายสินค้า หรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
-
กิจการให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
-
กิจการให้บริการเครื่องเล่นเกม
-
กิจการให้บริการตู้เพลง
-
กิจการโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง รวมถึงการค้าปลีก การค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
3. กิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนการค้า
ถึงแม้ว่าการทำธุรกิจหรือเปิดกิจการนั้นจะต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง แต่ก็มีบางกิจการหรือบางธุรกิจได้รับการยกเว้นในการจดทะเบียนการค้า โดยกิจการที่ไม่ต้องทำการจดทะเบียนการค้าตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้มีทั้งหมด 6 กิจการ ดังนี้
-
พาณิชยกิจการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย
-
พาณิชยกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
-
พาณิชยกิจของกระทรวง ทบวง กรม
-
พาณิชยกิจของมูลนิธิ สมาคม หรือสหกรณ์
-
พาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกร (จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515)
-
พาณิชยกิจของนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
4. ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนการค้า
การเปิดธุรกิจขายของออนไลน์ หรือร้านค้าออนไลน์นั้นจะต้องทำการจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้อง โดยกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์นั้นได้แบ่งการจดทะเบียนพาณิชย์ของร้านค้าออนไลน์ไว้ 2 ประเภท ดังนี้
-
ขายของออนไลน์บนโซเชียลมีเดีย ในกรณีนี้จะไม่สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์มที่ทำการค้าขายได้ จึงสามารถทำการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาและทำการยื่นภาษีได้ตามปกติ
-
ขายของออนไลน์บนเว็บไซต์ ในกรณีนี้สามารถชำระเงินบนแพลตฟอร์มที่ทำการค้าขายได้ จึงต้องทำการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมขอเครื่องหมาย DBD Registered เพิ่มเติมด้วย
หากเปิดธุรกิจขายของออนไลน์แต่ไม่ทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย ไม่ยอมให้การ ให้การเท็จ หรือไม่ยินยอมให้พนักงานตรวจสอบ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากไม่จดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ
5. เอกสารที่ใช้จดทะเบียนการค้า
การจดทะเบียนการค้าสามารถจดทะเบียนให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียวได้ แต่ก่อนจะทำการจดทะเบียนการค้าจะต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลา โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนการค้านั้นมีทั้งหมด ดังนี้
-
คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.) สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
-
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
-
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ
-
หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
-
สำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
-
หนังสือชี้แจง (ในกรณีที่เปิดธุรกิจมานานแล้ว และไม่ได้ยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วันหลังจากเริ่มเปิดธุรกิจ)
6. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการค้า
การขอดำเนินการจดทะเบียนการค้านั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามแต่ละประเภทของการดำเนินการ โดยเอกสารแต่ละฉบับที่ใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์นั้นจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้
-
จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ ค่าธรรมเนียม 50 บาท
-
จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ค่าธรรมเนียมครั้งละ 20 บาท
-
จดทะเบียนยกเลิกประกอบพาณิชยกิจ ค่าธรรมเนียม 20 บาท
-
ขอให้ออกใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ค่าธรรมเนียมฉบับละ 30 บาท
-
ขอให้เจ้าหน้าที่คัดสำเนา และรับรองสำเนาเอกสารของผู้ประกอบพาณิชยกิจ ค่าธรรมเนียมฉบับละ 30 บาท (สำหรับผู้ประกอบกิจการค้า และ 1 คำขอจะคิดเป็น 1 ฉบับ)
-
ขอตรวจเอกสารของผู้ประกอบการพาณิชยกิจรายหนึ่ง ค่าธรรมเนียมครั้งละ 20 บาท
7. จดทะเบียนการค้าได้ที่ไหน
การจดทะเบียนการค้านั้นสามารถจดได้ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด โดยกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งสถานที่ในการจดทะเบียนพาณิชย์ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้
1.ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สามารถจดทะเบียนการค้าได้ทั้งหมด 3 แห่ง ดังนี้
2.ผู้ประกอบการที่มีธุรกิจตั้งอยู่ในต่างจังหวัด สามารถยื่นจดทะเบียนการค้าได้ที่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ธุรกิจตั้งอยู่
8. ระยะเวลาในการจดทะเบียนการค้า
สำหรับการจดทะเบียนการค้านั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กรณี ได้แก่ การจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ การเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน การเลิกประกอบพาณิชยกิจ และใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย โดยแต่ละกรณีจะมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
-
การจดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ จะต้องทำการจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ
-
การเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน จะต้องจดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงตามรายการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
-
เปลี่ยนชื่อที่ใช้ประกอบพาณิชยกิจ
-
เลิกประกอบพาณิชยกิจบางส่วน
-
เพิ่มการประกอบพาณิชยกิจขึ้นใหม่
-
เพิ่มหรือลดเงินทุน
-
ย้ายสำนักงานใหญ่
-
เจ้าของ หรือผู้จัดการเปลี่ยนที่อยู่
-
เปลี่ยนผู้จัดการ
-
ย้าย ยกเลิก หรือเพิ่มสาขา โรงเก็บสินค้า หรือตัวแทนการค้า
-
แก้ไข หรือเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วน เงินลงหุ้น หรือจำนวนเงินลงทุน
-
แก้ไขจำนวนเงินทุน จำนวนหุ้น หรือมูลค้าหุ้น
-
แก้ไขชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น ชื่อเว็บไซต์
-
การยกเลิกการประกอบพาณิชยกิจ จะต้องทำการจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เลิกประกอบพาณิชยกิจ
-
ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย จะต้องทำการยื่นขอใบทะเบียนพาณิชย์แทนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สูญหาย
9. ข้อกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการ
ข้อกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องปฏิบัติตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจนต้องรับบทลงโทษ มีดังนี้
-
จดทะเบียนการค้าภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ เปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน หรือยกเลิกการประกอบธุรกิจ
-
แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ จะต้องทำการแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบแทนทะเบียนพาณิชย์ไว้ภายในสำนักงาน ไว้อย่างเปิดเผย เห็นได้ชัดหรือเห็นได้ง่าย
-
มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ จะต้องจัดให้มีป้ายชื่อทั้งหน้าสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำการจัดตั้งป้ายภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ โดยจะต้องเขียนเป็นอักษรไทยที่ชัดเจน อ่านง่ายและเห็นได้ชัด ให้ตรงกับชื่อที่ได้ทำการจดทะเบียนไว้ หากเป็นป้ายสำหรับสำนักงานสาขา จะต้องมีคำว่า “สาขา” กำกับไว้ด้วย
-
ขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหายหรือเกิดการชำรุด จะต้องยื่นคำขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สูญหายหรือชำรุด
-
ให้ข้อเท็จจริงกับนายทะเบียน เป็นการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน
-
ตรวจสอบสำนักงาน ในกรณีที่ต้องตรวจสอบสำนักงาน เจ้าของธุรกิจจะต้องยินยอมและอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียน พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปตรวจสอบภายในสำนักงาน
10. บทลงโทษ
หากเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการไม่ทำการจดทะเบียนการค้าให้ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหน้าที่ตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดไว้ อาจจะมีโทษ หรือได้รับบทลงโทษ ดังนี้
-
ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ทำการจดทะเบียนการค้า รวมถึงแสดงรายการเท็จ ไม่ยอมให้ถ้อยคำ หรือไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสำนักงาน มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และหากไม่จดทะเบียนต่อเนื่อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะทำการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ
-
ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย ในกรณีที่ใบทะเบียนพาณิชย์สูญหาย ชำรุด หรือไม่แสดงใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ที่สำนักงานตามที่กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท และหากไม่ยื่นคำขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง จะโดนปรับอีกวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะทำการขอใบแทนทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง
-
ทำการทุจริตต่อประชาชน ในกรณีที่ผู้ประกอบการฉ้อโกงประชาชนหรือกระทำการทุจริตอื่นใดอย่างร้ายแรงในการประกอบกิจการ จะต้องถูกถอนใบทะเบียนพาณิชย์ เมื่อถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์แล้วจะไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้ เว้นแต่รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์จะสั่งให้รับการจดทะเบียนพาณิชย์ใหม่
-
ถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจถูกสั่งถอนใบทะเบียนพาณิชย์ แต่ยังคงฝ่าฝืนประกอบธุรกิจต่อไป มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำไม่คุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา www.kasikornbank.com