การคำนวณค่าชดเชย กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
เมื่อมีการเลิกจ้างหลายคนไม่รู้ว่ามีสิทธิได้ค่าชดเชยทั้งรูปแบบการทำงานที่คำนวณโดยอาศัยฐานค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนด้วย และนายจ้างต้องคำนวณจากการจ่ายค่าจ้างตามผลงานอีกด้วย
เช่น ลูกจ้างทำงานมา 12 ปี หลักกฎหมาย มาตรา 118 (5) บัญญัติถ้อยคำว่า
"ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ...ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย"
จากตัวกฎหมายจะเห็นว่า
ก) ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน หรือทำงานรายวัน หรือรายชื่อโมง ที่เหมาจ่าย "ตามเวลา" ที่ทำงาน การคำนวณค่าชดเชยตามตัวอย่างนี้
- หากเป็นค่าจ้างรายวันอยู่แล้วก็คูณ300 ซึ่งเป็นอัตราค่าชดเชยได้เลย ก็จะได้เป็นค่าชดเชยออกมา
- แต่ถ้าเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนต้องเอาเงินเดือนมาหาร 30 ก่อน (มาตรา 68 ให้หาร 30) ก็จะได้เป็นค่าจ้างรายวันออกมา จากนั้นก็คูณ 300 อันเป็นอัตราการจ่ายค่าชดเชย
ข) ลูกจ้างที่รับค่าจ้างโดยคำนวณเป็นหน่วย กฎหมายให้ดูว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายได้กี่บาท จากตัวอย่างนี้ทำงาน 12 ปีตามมาตรา 118(5) ให้ค่าชดเชย 300 วัน ก็ต้องนับย้อนขึ้นไปว่าก่อนออกจากงาน 300 วันได้ค่าจ้างกี่บาทก็จะเป็นค่าชดเชย
เช่น ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนจากการขายสินค้า 10% จากยอดขาย หรือถ้าเย็บผ้าก็จะได้ค่าจ้างตัวละ 10 บาท หรือประกอบคอมพิวเตอร์ได้เครื่องละ 100 บาท เช่นนี้ ถือว่าเป็นลูกจ้างตามผลงาน ถ้าลูกจ้างทำงาน 112 ปี จะได้ค่าชดเชย 300 วัน หรือค่าตอบแทน 10 เดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง
เช่น เลิกจ้างเดือนพฤศจิกายน ก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับไป 10 เดือนว่าแต่ละเดือนได้เงินกี่บาท หากเป็นค่าตอบแทน 10% เมื่อย้อนคำนวณค่าชดเชย 300 วัน คือประมาณ 10 เดือนก็จะได้ดังนี้
- เดือนที่ 10 ตุลาคมได้ 50,000 บาท
- เดือนที่ 9 กันยายนได้ 30,000 บาท
- เดือนที่ 8 มิถุนายนได้ 70,000 บาท
- เดือนที่ 7 กรกฎาคมได้ 55,000 บาท
- เดือนที่ 6 มิถุนายนได้ 70,000 บาท
- เดือนที่ 5 พฤษภาคมได้ 5,000 บาท
- เดือนที่ 4 เมษายนได้ 1,000 บาท
- เดือนที่ 3 มีนาคมได้ 69,000 บาท
- เดือนที่ 2 กุมพาพันธ์ได้ 70,000 บาท
- เดือนที่ 1 มกราคมได้ 90,000 บาท
ค่าชดเชยจึงต้องนำเอาเงินทั้ง 10 เดือนมารวมจะได้ 510,000 บาท และนี่คือค่าชดเชย 300 วัน
ข้อสังเกต ถ้าหากมีการคำนวณค่าตอบแทนจ่ายทุกวัน เช่นค่าประกอบคอมพิวเตอร์เครื่องละ 100 บาท ซึ่งเงินที่ได้อาจไม่เท่ากันทุกวัน เช่น บางวันประกอบได้ 5 เครื่อง 500 บาท บางวันได้ 600 บาท ก็อาจนับย้อนหลังย้อนลงไป 300 วันก็ได้ โดยนับเฉพาะวันที่ทำงาน วันใหนไม่มาก็ไม่มีเงินให้นับได้
ค) ลูกจ้างที่รับค่าจ้างแบบผสม คือได้ทั้ง "เงินเดือน" "รายวัน " และ "ค่าตอบแทนตามผลงาน"
เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัทสินเชื่อ ทำหน้าที่พิมพ์และเรียงฟ้องได้เงินเดือน ๆ ละ 22,000 บาท และได้ค่าตอบแทนตามผลงานจากการเรียงฟ้องสำนวนละ 50 บาท และได้เบี้ยเลี้ยงทุกวัน ๆ ละ 210บาท หากลูกจ้างทำงาน 12 ปี แล้วถูกเลิกจ้าง จะได้ค่าชดเชยกี่บาท
ลูกจ้างประเภทนี้เรียกว่าได้ค่าชดเชยหลายประเภทเพราะได้รับทั้งเงินเดือน ทั้งค่าจ้างรายวัน ทั้งค่าจ้างตามผลงาน ซึ่งวิธีคำนวณค่าชดเชย ดังนี้
- เงินเดือน จะต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย ก็ต้องคำนวนว่าค่าจ้าง "สุดท้าย" กี่บาท ด้วยการเอาเงินเดือน 22,000 หาร 30 ได้วันละ 733.33 บาท เอาไปคูณอัตราค่าชดเชย 300 วัน จะได้อัตราค่าชดเชย 220,000 บาท
- รายวัน ซึ่งได้ในรูปเบี้ยเลี้ยงซึ่งจ่ายรายวัน กรณีนี้ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วย จึงต้องนำมาคำนวณอัตราค่าชดเชยด้วย เมื่อได้วันละ 210 บาท ทำงาน 12 ปีได้ค่าชดเชย 300 วัน จึงต้องเอา 210 บาทมาคูณ 300 วัน จะได้ค่าชดเชย 63,000 บาท
- ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย จากตัวอย่างการที่ลูกจ้างได้ค่าตอบแทนจากการพิมพ์ฟ้องและเรียงสำนวนละ 50 บาท ซึ่งแต่ละวันอาจได้ไม่เท่ากัน มีปัญหาว่าค่าจ้าง "สุดท้าย" ก่อนเลิกจ้าง 300 วันไม่เท่ากัน เช่นนี้ กฎหมายจึงให้นับย้อนกลับลงไป 300 วันว่าได้ค่าจ้างตามผลงานกี่บาท จากนั้นนำเอาจำนวนเงินทั้งหมดมารวมกัน ก็จะได้เป็นค่าชดเชย ในทางปฎิบัตินายจ้างก็มักจะนำผลรวมแต่ละเดือนมารวมกันตามตัวอย่างค่าตอบแทนจากการขายข้างต้น ได้เท่าใหร่ก็จะได้เป็นค่าชดเชย หากลูกจ้างได้วันละ 200 บาท จำนวน 200 วัน เป็นเงิน 40,000 บาท และได้วันละ 300 บาทอีกจำนวน 100 วันเป็นเงิน 30,000 บาท รวม 300 วัน เป็นเงิน 70,000 บาท ก็จะเป็นค่าเชยสำหรับค่าจ้างตามผลงานที่คำนวณเป็นหน่วย
ซึ่งต้องนำเอาค่าชดเชยทั้ง 3 กรณีมารวมกัน คือ 220,000 + 63,000+70,000 ก็จะได้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างควรได้รับ คือ 353,000 บาท
ข้อสังเกต ลูกจ้างที่ทำงานตามผลงานก่อนการเลิกจ้างอาจต้องมีความขยันมากเป็นพิเศษเพื่อส่งผลต่อค่าชดเชย ซึ่งหากเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาก็ดี หรือนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าก็ดี หรือการเกษียณ ถือเป็นการเลิกจ้างก็ดี ลูกจ้างจะรู้ตัวก่อนถูกเลิกจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างหากได้รับค่าจ้างโดยคำนวณเป็นหน่วยอาจต้องมีความขยันมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงก่อนเลิกจ้าง
มีปัญหาน่าคิดว่าหากก่อนการเลิกจ้างลูกจ้างทำงานมา 9 ปี 11 เดือนครึ่ง ในเดือนถัดมา 1 เดือนเต็มก่อนการเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน คือทำผลงานไม่ได้ มีปัญหาว่าจะต้องนำเอาระยะเวลา 1 เดือนที่ไม่สามารถทำผลงานได้มารวมกับ 9 ปี 11 เดือนหรือไม่ ถ้ารวมก็จะมีระยะเวลาทำงาน 10 ปีกับอีกครึ่งเดือน มีสิทธิได้ค่าชดเชย 300 วัน แต่ถ้าไม่รวมจะได้ค่าชดเชย 240 วัน
ต้องเข้าใจว่าการไม่ได้ค่าจ้างตามผลงาน กับระยะเวลาการทำงานเป็นคนละเรื่องกัน จากตัวอย่างนี้แม้ลูกจ้างไม่ได้ค่าจ้างตามผลงานแต่ก็ยังทำงานอยู่ สัญญาจ้างไม่ได้สิ้นสุด ซึ่งคำพิพากษาฎีกาที่ 4630-4673/2559 พิพากษาว่าแม้เดือนสุดท้ายของการทำงานลูกจ้างจะไม่ได้ทำงานอันได้รับค่าตอบแทนตามผลงานก็ต้องนำเอาระยะเวลาและผลงานของเดือนดังกล่าวมานับรวมคิดคำนวณเป็นเวลาการทำงานสุดท้ายด้วย
ที่มา กฎหมายแรงงาน