วันที่มนุษย์เงินเดือนจะรู้สึกมีความสุขที่สุด เห็นจะได้แก่วันเงินเดือนออกและวันโบนัสออก ชวนให้หัวใจกระชุ่มกระชวย อยากจะทำงานต่อไป อยากบุกบั่นทำงาน
แต่ก็ยอมรับอยู่ว่า จะมีพนักงานจำนวนหนึ่งและไม่น้อยคนที่ฝันสลาย เพราะไม่ได้โบนัสอย่างที่คาดไว้ ทำให้หมดอารมณ์ทำงาน หมดใจกับการจะบุกบั่นทำงาน หลายคนถึงขั้นอยากจะเปลี่ยนงานใหม่กันไปเสียเลย
พอพนักงานได้โบนัสน้อยกว่าที่คาดคิดไว้ ก็เริ่มไม่สบายใจ หาก HR ต้องเคลียร์สถานการณ์ทางใจเช่นนี้ HR ต้องพยายามอธิบาย โดยคาดหวังให้ทั้งพนักงานรายหนึ่งรายใดเข้าใจ และคาดหวังว่าเขาจะบอกต่อสารของท่านไปยังคนอื่นที่มีประเด็นเช่นเดียวกัน
1. ความหมายของคำว่า “โบนัส”
หากยอดขายดีและมีกำไร หรือเติบโตตามเป้า องค์กรพอมีเงินเหลือที่จะแบ่งสรรปันส่วนจ่ายให้พนักงานได้ ก็ได้โบนัส หากปีใดยอดขายต่ำกว่าเป้า ผลประกอบการย่ำแย่ ไหนเลยองค์กรจะมีเงินมาจ่ายโบนัสหรือจะจ่ายได้มากอย่างที่เคยจ่ายในปีก่อนๆ ได้ การจะได้เงินโบนัสมากหรือน้อยนั้น อยู่กับผลประกอบการเป็นส่วนหลัก แม้ส่วนหนึ่งอิงกับผลงานของเราเอง แต่ก็มิใช่ว่าผลงานเยี่ยมแล้วจะได้โบนัส หากผลประกอบการในภาพรวมตกต่ำลง
โบนัสนั้นองค์กรจ่ายเพิ่มให้จากเงินเดือนที่ว่าจ้างกันตามสัญญาจ้าง เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนการทุ่มเทตั้งใจอุทิศตนกับการทำงาน และการที่เราไม่ได้โบนัสไม่ได้หมายถึงเราไม่ตั้งใจทำงานหรือไม่มีผลงาน แต่อาจเป็นเพราะเป้าหมายภาพรวมขององค์กรไม่บรรลุอย่างที่วางไว้เป็นเหตุหลัก
“แม้จะได้โบนัสน้อยหรือไม่ได้เลย แต่เราก็ยังคงมีงานทำต่อไป” ดังนั้น โบนัสจะได้มาเท่าไรหรือไม่ได้นั้น ก็ต้องยอมรับให้ได้
2.ไม่โยนบาป
พอไม่ได้โบนัสอย่างที่คาดไว้ หลายคนตีโพยตีพายไปว่าหัวหน้าไม่เป็นธรรม โยนบาปไปให้คนอื่น ทั้งที่คนอื่นนั้นก็ประสบภาวะไม่ต่างกันมากนัก ผลการประเมินเราอาจจะดี แต่ดีเพราะเราทำงานอย่างเดียว ขณะคนอื่นที่ผลงานน้อยกว่าหน่อย แต่ทำงานใหญ่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างานมาหลายเรื่องหลายครั้ง เช่นนี้ ผลงานเพื่อนอาจจะน้อยกว่าที่เราคิด แต่เพื่อนทำงานหลากหลายและมักจะได้คุณค่ามากกว่า
3.ตั้งคำถามกับสิ่งที่ผ่านมา
ควรมองว่านี่คือโอกาสที่จะได้ทบทวนตัวเองอะไรบางอย่าง ขอให้หันกลับมาตั้งคำถามแบบบวกๆ กับตัวเองให้มาก ว่าเรายังทำงานเรื่องใดที่ไม่ได้ผลตามเป้า เรายังขาดทักษะเรื่องใดที่ต้องพัฒนาเร่งด่วนหรือเปล่า มีวิธีการทำงานอะไรที่ควรต้องปรับเพื่อให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้างหรือไม่ การคิดหาคำตอบของคำถามเช่นที่ยกตัวอย่างมานี้ จะช่วยเยียวยาความไม่สบายใจของเราไปได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้เห็นบางมุมในตัวเราถี่ถ้วนมากขึ้น
4. ไม่ประชดด้วยการทำงานน้อยลง หรือเข้าเกียร์ว่าง
ด้วยเพราะมุมมองของผลงานระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานมักต่างกัน โดยเฉพาะกับหัวหน้างานที่ไม่ค่อยบอกความคาดหวังของเขากับพนักงาน และยิ่งไม่ค่อยได้ให้ Feedback หรือสะท้อนผลงานกันสักเท่าใด ก็ยิ่งชวนให้เจ้าตัวพนักงานรู้สึกไม่สบายใจกับผลการประเมินและโบนัสที่ได้รับมากเท่านั้น และลงท้าย พนักงานกลุ่มนี้มักจะปล่อยเกียร์ว่าง ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ใส่ใจหน้าที่ความรับผิดชอบ
ควรบอกกับพนักงานให้เข้าใจว่า โบนัสที่ได้รับนั้นก็สะท้อนจากผลงานที่พนักงานทำออกมา ส่วนการประเมินผลงานออกมานั้น เป็นเรื่องที่หัวหน้างานพิจารณามาแล้ว เมื่อไม่สบายใจก็ควรหาโอกาสไปพูดคุยปรับความเข้าใจ บอกสิ่งที่คาดหวังกับหัวหน้าเสียเลย แต่หากรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยกับหัวหน้าจริงๆ ก็ลองหาโอกาสไปขอพบผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไปเพื่ออธิบาย หรือแม้แต่มาคุยกับทาง HR เพื่อให้ส่งผ่านประเด็นไปยังหัวหน้าอีกครั้งหนึ่ง ไม่ควรที่จะไปตอบโต้ (Retaliation) หัวหน้า หน่วยงาน เพื่อนร่วมงานหรือทำให้องค์กรในภาพรวมได้รับผลกระทบจากความไม่พอใจนั้น ยิ่งการแสดงออกกับลูกค้า จนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมากับองค์กร ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ยากจะรับได้ รวมความแล้วได้ไม่คุ้มเสีย
5. วางแผนการใช้จ่ายให้ดี ไม่ประชดด้วยการช้อปกระจาย
หลายคนเมื่อไม่สบายใจก็ช้อปปิ้งกันกระจาย รูดบัตรเครดิตกันสุดตัว เพราะเข้าใจว่าการช้อปปิ้งจะคลายทุกข์ได้ ตรงกันข้าม ทุกข์เก่าอาจจะคลายไปบ้าง แต่ทุกข์ใหม่หนักหนาตามมา เพราะรูด จนกลายเป็นภาระหนี้ผูกพันในวันหน้ามหาศาล
หลายคนคาดเดาไปเองว่าจะได้รับโบนัสก้อนโต เลยจ่ายเงินอนาคตซื้อของใช้สารพันกันเต็มบ้านไปหมด แต่พอเปิดสลิปเงินเดือนดูถึงกับช๊อค เพราะมองเห็นหนี้ก้อนโตกว่าเงินที่ได้รับ เมื่อเป็นแบบนี้ ต้องรีบวางแผนปรับค่าใช้จ่ายกันเสียใหม่เพื่อไม่ให้ชีวิตสะดุด เน้นการจ่ายในเรื่องที่จำเป็นก่อน
ตราบเท่าที่เรายังทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ เรื่องโบนัสจะได้มากน้อยนั้น เป็นเรื่องที่แปรผันไปตามเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่แน่นอนคือ ผลงานที่ดีของเราจะการันตีได้ว่า หากองค์กรประกาศจ่ายโบนัส เราจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขของการรับโบนัสที่องค์กรกำหนดไว้
ที่มา JobBKK