วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่ใช่วันลา
บทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีเจตนารมณ์เพื่อประสงค์ให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดเพื่อพักผ่อนในระยะยาวครั้งหนึ่งในรอบปี โดยกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จัดให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน
แม้กฎหมายประสงค์ให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนคราวเดียวกันในระยะเวลายาวก็ตาม (ปีละไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน) แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องหยุดคราวเดียว นายจ้างอาจจัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีคราวละ 1 วัน หรือ 2 วันก็ได้
การจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นอำนาจของนายจ้างที่จะจัดให้ลูกจ้างหยุดในช่วงระยะเวลาใดก็ได้ มิใช่ว่าลูกจ้างขอลาหยุดแล้วจะได้หยุดตามที่ลูกจ้างประสงค์แต่อย่างใด นายจ้างส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้เป็นวันลา ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละบริษัทจึงมักนำไปกำหนดในเรื่องเกี่ยวกับวันลา ซึ่งอาจเรียกว่า วันลาพักร้อนบ้าง วันลาพักผ่อนบ้าง และมักจะกำหนดให้ลูกจ้างยื่นใบลาขอวันหยุดมา นายจ้างก็จะใช้คำว่าอนุญาตให้ลาหยุดได้
เมื่อกฎหมายกำหนดให้เป็นวันหยุดไม่ใช่วันลา การที่ลูกจ้างขอลาก็ต้องถือว่าการลานั้นเป็นการเสนอขอให้นายจ้างจัดให้เป็นวันหยุด และการที่นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างลาได้ก็ต้องถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ลาขึ้นมาและนายจ้างก็มิได้จัดวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง ก็ต้องถือนายจ้างปฎิบัติไม่ถูกต้องตาม ม.30 แห่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 ลูกจ้างมีสิทธิ์เรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้นายจ้าง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี ทางใดทางนึง
"เคยมีคดีที่นายจ้างออกระเบียบทำนองว่า หากลูกจ้างไม่ลาในแต่ละเดือนมีสิทธิได้เบี้ยขยัน
เช่นนี้ หากลูกจ้างไม่ลาป่วย ลากิจธุรจำเป็น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อการฝึกอบรมและพัฒนา ลาคลอด ลาเพื่อการทำหมัน ลูกจ้างก็จะได้รับเงินเพิ่มเติมเรียกว่า 'เบี้ยขยัน'
ปรากฎว่ามีลูกจ้างใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างจึงตัดสิทธิไม่ให้เบี้ยขยัน
ศาลตัดสินทำนองว่า "วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่ใช่วันลา" การใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีจึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับ ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับเบี้ยขยัน (ฎีกา ๒๕๔/๒๕๒๔)"
ที่มา เพจกฎหมายแรงงาน