ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 33 “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อทำหมันได้และมีสิทธิลาเนื่องจากการทำหมันตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง” โดยการลาเพื่อทำหมันกฎหมายให้สิทธิ์เท่าเทียมกันทั้งชายและหญิง
การลาเพื่อทำหมันกฎหมายกำหนดไว้ 2 กรณีคือ
- ลาไปเพื่อทำหมัน นั่นหมายถึง ไม่ว่าจะเป็นพนักงานชายหรือหญิง เมื่อต้องการทำหมัน และได้กำหนดวัน หรือได้เตรียมตัวพร้อมแล้ว ให้สิทธิลาไปเพื่อทำหมันในวันนั้น ๆ
- ลาเนื่องจากการทำหมัน หมายถึง เมื่อไปทำหมันแล้ว อาจมีผลข้างเคียง หรือจำเป็นต้องพักรักษาตัว แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด จะเป็นคนวินิจฉัยลงความเห็นและออกใบรับรองแพทย์ให้ว่าเห็นควรหยุดพักรักษาตัวกี่วัน ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ลาตามจำนวนวันที่แพทย์รับรองนั้นได้
ลาเพื่อทำหมัน กฎหมายไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขไว้ ว่าต้องปฏิบัติเช่นไร แต่สามารถพิจารณาได้ตามลักษณะแห่งการลา
กล่าวคือ คนที่จะทำหมันได้ ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หรือมีความพร้อมทั้งกายและจิตใจ จึงจะทำหมัน นั่นแสดงว่า การทำหมันไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ดังนั้น กรณีจึงไม่เข้าข่ายลักษณะของการลาป่วย ลูกจ้างสามารถกำหนดวันหรือสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า ต้องการทำหมันหรือจะไปทำหมันในวันใด ซึ่งเข้าลักษณะเหมือนการลากิจนั่นเอง
ดังนั้น การลาเพื่อทำหมัน จึงจำต้องยื่นใบลาล่วงหน้า ให้นายจ้างทราบ
ลาเพื่อทำหมัน ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 57 วรรคสองกำหนดไว้ว่า
“ ในกรณีที่ลูกจ้างใช้สิทธิลาเพื่อทำหมันตามมาตรา 33 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลานั้นด้วย”
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สำหรับวันลาเพื่อทำหมัน และโดยเจตนาของกฎหมาย สิทธิได้รับค่าจ้างนั้นจะหมายถึงการลาเพื่อทำหมันตาม ทั้งสองกรณี ทั้งการลาเพื่อทำหมัน และการลาอันเนื่องมาจากการหมันตามที่แพทย์รับรอง
ที่มา บริษัท กฎหมายปาระมี จำกัด