ตามกฎหมาย นายจ้างสามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ ก็ต่อเมื่อลูกจ้างลาป่วย 3 วันขึ้นไป ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นช่องโหว่ให้คนไม่สุจริตลาป่วยเท็จได้ มาดูกันว่านายจ้างจะจัดการอย่างไรดีกับเหตุการณ์นี้
ในส่วนนี้นายจ้างสามารถจัดการกับลูกจ้างที่ลาป่วยเท็จได้โดยการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างป่วยจริงหรือไม่ ซึ่งการสอบสวนว่าลาป่วยเท็จหรือไม่ แม้จะมีใบรับรองแพทย์ก็สามารถสอบสวนได้ นายจ้างอาจปฎิบัติดังนี้
๑) ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าการที่ลูกจ้างยื่นใบลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์และได้รับอนุญาตให้ลาจนครบกำหนดและมาทำงานแล้ว หากนายจ้างสงสัยว่าลูกจ้างป่วยจริงหรือไม่ หรือใช้สิทธิลาป่วยไม่สุจริต นายจ้างชอบที่จะสั่งให้ไปตรวจกับแพทย์อื่นที่นายจ้างจัดให้เพื่อตรวจสอบว่าป่วยจริงหรือไม่ หากปรากฎว่าป่วยจริงและใช้สิทธิลาโดยสุจริตก็เป็นผลดีแก่ลูกจ้าง
คำสั่งของนายจ้างดังกล่าวลูกจ้างจะอ้างได้หรือไม่ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม คำตอบคืออ้างไม่ได้ ศาลฎีกาถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม จึงสั่งได้ และลูกจ้างต้องไปตรวจตามคำสั่ง
คดีนี้ (ฎีกาที่ ๓๒๑๑/๒๕๔๕) เมื่อนายจ้างสั่งให้ลูกจ้างไปตรวจแล้วแต่ลูกจ้างไม่ไป นายจ้างจึงออกหนังสือตักเตือน
จากนั้นนายจ้างได้ยืนยันให้ลูกจ้างปฎิบัติตามอีกแต่ลูกจ้างก็ไม่ไปตรวจนายจ้างจึงลงโทษพักงาน ๑๑ วัน
จากนั้นนายจ้างจึงยืนยันให้ลูกจ้างไปตรวจอีก เมื่อลูกจ้างไม่ไปตามคำสั่ง นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย เพราะเป็นกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ตาม ม. ๑๑๙(๔)
ข้อสังเกต
ก) คดีนี้นายจ้างไม่ได้เลิกจ้างเพราะลาป่วยเท็จ แต่เลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
ข) นายจ้างลงโทษหลายครั้งจากการกระทำผิดครั้งเดียวหรือไม่ จะเห็นได้ว่าคำสั่งให้ไปตรวจครั้งแรก ถูกลงโทษโดยการตักเตือน หนังสือเตือนจึงล้างการกระทำความผิดไปแล้ว ต่อมานายจ้างมีคำสั่งอีก ๒ ครั้ง การที่ลูกจ้างไม่ไปตรวจตามคำสั่งอีกจึงเป็นความผิดครั้งใหม่ และการลงโทษก็เป็นการอาศัยมูลฐานความผิดจากการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งครั้งใหม่ จึงไม่เป็นการลงโทษหลายครั้งจากพฤติการณ์การกระทำความผิดครั้งเดียว
ค) เรื่องนี้แพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์เท็จก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและจรรยาบรรณแพทย์ได้
๒) อ่านกฎหมายมาตรา ๓๒ พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ จะพบว่ากฎหมาย "ห้ามขอใบรับรองแพทย์" กรณีลาป่วย ๑ วัน หรือ ๒ วัน เพราะไม่ต้องการไปเพิ่มภาระแก่ลูกจ้างและบุคคลกรทางสาธารณสุข แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามขอหลักฐานอื่น
ตัวอย่าง "...ในกรณีที่ลูกจ้างลาป่วย ๑ วัน และ/หรือ ๒ วัน ให้ลูกจ้างแสดงหลักฐานประกอบหนังสือขอลาป่วย..."
จากนั้นก็เขียนคำนิยามของคำว่า "หลักฐานประกอบการลาป่วย หมายถึง พยานหลักฐานใดๆ อันแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างได้ป่วยจริง เช่น ซองยา ภาพถ่าย ใบรับรองแพทย์แผนไทยหรือแพทย์จีน พยานบุคคล วีดีโอ ผลตรวจของนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น" หรือจะให้วีดีโอคอลมาลาป่วยแล้วนายจ้างพิจารณาเบื้องต้นถึงอาการป่วยก็ไม่มีกฎหมายห้าม
อย่างไรก็ตาม การขอข้อมูลต่างๆ เป็นการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลควรได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งด้วย
ที่มา เพจ กฎหมายแรงงาน