มาดูกัน ... พนักงานประเภทใดที่เรียกรับหลักประกันได้

          หลักกฎหมาย กำหนดห้ามมิให้นายจ้างเรียก หรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานฯ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้เรียกหรือรับหลักประกันได้ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานนั้น

  • ลูกจ้างต้อง "รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง"
  • ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกเก็บหรือรับหลักประกันการทำงาน ระบุลักษณะ หรือสภาพของงานที่เรียกเก็บไว้ ได้แก่

  1. งานสมุห์บัญชี
  2. งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน
  3. งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า
  4. งานเฝ้าหรือดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง
  5. งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน
  6. งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ
  7. งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร

          โดยสรุป พนักงานที่เงินผ่านมือเพื่อนำส่งแก่พนักงานอื่นเพียงชั่วคราวระยะสั้น(ภาษากฎหมายเรียกยึดถือแทน) ไม่ถือว่าเป็นการควบคุมเงินหรือทรัพย์สิน นายจ้างจึงเรียกหรือรับหลักประกันจากพนักงานประสานงานในออฟฟิศ และฝ่ายบุคคลไม่ได้ แต่พนักงานที่ "ครอบครอง" เงินหรือทรัพย์สินไว้นานและอยู่ไกลหูไกลตานายจ้าง นายจ้างสามารถเรียกหรือรับหลักประกันจากพนักงานขาย หรือพนักงานส่งของได้

          สำหรับหลักประกันการทำงาน หรือความเสียหายมี 3 ประเภท ได้แก่ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล โดยการเรียกเก็บต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

 

ที่มา กฎหมายแรงงาน