กรมสรรพากรปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ นำเข้าในประเทศไทยปีไหนต้องเสียภาษีปีนั้น เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาภายใต้ประมวลรัษฎากรแบ่งได้ 2 หลักการ ได้แก่
1. หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) สำหรับหลักการนี้ประเทศไทยจะจัดเก็บภาษีจากบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดจากหน้าที่การงาน กิจการที่ทำในประเทศไทย กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
2. หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) หลักการนี้ประเทศไทยจะเก็บภาษีจากเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย คืออยู่ในประเทศไทย 180 วันหรือมากกว่านั้น (นับตามปีภาษี มกราคม - ธันวาคม) และ มีเงินได้จากต่างประเทศ โดยผู้มีเงินได้นั้นนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยภายในปีภาษีเดียวกับที่เกิดเงินได้ ดังนั้นหลักปฏิบัติที่ผ่านมาผู้มีเงินได้จากต่างประเทศที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยจะนำเงินได้ดังกล่าวเข้ามาข้ามปีที่มีรายได้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเงินได้นั้นมารวมเพื่อเสียภาษีในประเทศไทย (“หลักเกณฑ์เดิม”)
ภาษีเงินได้จากต่างประเทศแบบใหม่ นำเข้าในประเทศไทยปีไหนต้องเสียภาษีปีนั้น เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
แบบเดิม เสียภาษีเฉพาะเมื่อนำเงินเข้าประเทศในปีภาษีเดียวกันกับปีที่มีเงินได้ และนำเข้าประเทศไทยอยู่เกิน 180 วัน เสียภาษี (เกิดเงินได้แล้วนำเข้าข้ามปี ไม่เสียภาษี)
แบบใหม่ เงินได้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2567 นำเข้ามาในปี 2567 เป็นต้นไป ไม่ต้องเสียภาษี แต่เงินได้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป นำเข้ามาปีภาษีใด เสียภาษีปีนั้น อัตราก้าวหน้า (สูงสุด 35%)
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 และ ป.162/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จากกองกฎหมาย กรมสรรพากร
ที่มา บริษัท รัชพรการบัญชีภาษีอากรและกฎหมาย จำกัด