การ เลิกจ้างพนักงาน หรือการ ไล่ออก เป็นกระบวนการที่สร้างความตึงเครียดให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวพนักงานที่ตกงาน หัวหน้าที่ต้องตัดสินใจ หรือกระทั่ง HR ที่ต้องดำเนินการดังกล่าว การไล่พนักงานออกกลับทำให้ HR รู้สึกผิด เพราะต้องรับมือกับความคิดว่าตัวเองทำให้พนักงานที่โดนไล่ออกมีชีวิตที่ยากลำบากขึ้น แต่ความรู้สึกแบบนี้คือเรื่องปกติ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การเลิกจ้าง หรือ ไล่ออก คือ การยุติสัญญาในการจ้างงานตามกฎหมาย ซึ่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การยกเลิกสัญญาเพราะตัวพนักงานเอง ไปจนการที่บริษัทปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานและไม่ได้รับค่าจ่ายจากนายจ้างอีกต่อไป โดยการเลิกจ้างสามารถบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อให้เตรียมตัว
- หากไล่ออกแล้วรู้สึกผิด คุณทำดีแล้ว ความรู้สึกแย่เมื่อไล่พนักงานออกคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าเรายังมีความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไปก็คือความเป็นมืออาชีพและรับรู้ว่ามันเป็นเรื่องปกติ
- การไล่ออกเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พบเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง พนักงานอาจมีศักยภาพไม่ตรงกับที่บริษัทต้องการ หรือในอีกมุมหนึ่งคือองค์กรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากพนักงานได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการแยกย้ายกันไปหาสิ่งที่ดีกว่าจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า
- การไล่ออกไม่ใช่จุดจบของพนักงาน พนักงานที่ถูกไล่ออกไปส่วนใหญ่แล้วจะได้งานที่ตรงกับความต้องการของตนเองมากกว่าเดิม
- ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ให้เพิ่มสวัสดิการหรือเงินชดเชย ให้คุยกับบริษัทโดยตรงเลยว่าพนักงานคนที่ออกไปสมควรได้รับเงินหรือสวัสดิการเพิ่มเติมอย่างไร HR ควรมองเรื่องผลประโยชน์ขององค์กรเป็นหลักรับมือทุกสถานการณ์อย่างมืออาชีพ
- การไล่ออกจะทำให้บรรยากาศในที่ทำงานดีขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานบริษัทต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในองค์กร และหากเรามีพนักงานที่ไม่พร้อมหรือเข้ากับคนอื่นไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานในส่วนอื่น ๆ ตามไปด้วย
การไล่พนักงานออกนั้นส่งผลต่อคนทั้งองค์กร ดังนั้น HR ต้องระมัดระวังในทุก ๆ การกระทำหลังเสร็จสิ้นกระบวนการเพื่อลดความตื่นตระหนกของพนักงานที่ยังอยู่ ตลอดจนเน้นย้ำให้เห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่มีใครต้องกังวลตราบใดที่ยังทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามแนวทางที่บริษัทวางเอาไว้ ดังนั้นการบริหารหลังไล่พนักงานออกจึงเป็นสิ่งที่ HR มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
ที่มา hrnote.asia