งบกระแสเงินสด ตัวชี้วัดสุขภาพธุรกิจที่สำคัญ

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริหารธุรกิจคือการจัดการเงินสด หรือการจัดการรายรับรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งจริงๆ แล้ว ทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาไม่มากก็น้อย เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เด็กจนโต ตอนเด็กหากเราได้ค่าขนม 20 บาท เราก็จะพยายามซื้อขนมไม่ให้เกินจากจำนวนเงินที่ได้ ส่วนที่เหลือเราจะเก็บไว้เพื่อการออมสำหรับอนาคต เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน หากเราได้เงินเดือน 20,000 บาท เราก็จะต้องจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ให้เกินจากเงินเดือนที่ได้รับ หากพบว่าค่าใช้จ่ายของเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เราก็ต้องวางแผนหางานพิเศษเพื่อเสริมรายได้ หรือหาวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายบางอย่างเพื่อให้รายรับเพียงพอกับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้น หลักการนี้ไม่ต่างจากการบริหารธุรกิจ ซึ่งต้องใช้การวางแผนและการจัดการที่ดี ในภาษาธุรกิจ เราเรียกการจัดการรายรับรายจ่ายนี้ว่า การบริหารงบกระแสเงินสด

กระแสเงินสด คืออะไร

กระแสเงินสด (Cash Flow) คือจำนวนเงินเข้า (รายได้) และจำนวนเงินออก (รายจ่าย) ของบริษัท หากรายได้ลบด้วยรายจ่ายแล้วเหลือเงิน แสดงว่าบริษัทมีเงินพอในการดำเนินกิจการ หรือที่เรียกว่าบริษัทมีสภาพคล่อง (Liquidity)

รายได้ (Income) คือเงินที่บริษัทได้จากการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินจากการขายสินค้าหรือบริการ ดอกเบี้ยจากการลงทุน ค่าตอบแทนจากการให้ใช้สินทรัพย์

รายจ่าย (Expense) คือเงินที่บริษัทต้องจ่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่น เงินที่ต้องจ่ายสำหรับการซื้อวัตถุดิบ เงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์สำนักงาน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม

3 สิ่งสำคัญเกี่ยวกับกระแสเงินสดที่ต้องรู้เพื่อวางแผนการดำเนินงานของบริษัทไม่ให้ขาดสภาพคล่อง ได้แก่:

  1. รายได้และรายจ่ายมีจำนวนเท่าไหร่
  2. รายได้และรายจ่ายจะเกิดเมื่อไหร่
  3. ความเข้าใจในความเสี่ยงของรายรับรายจ่ายนั้นๆ

เมื่อรายได้มากกว่ารายจ่าย เราจะมีเงินเหลือ หรือที่เรียกว่ากระแสเงินสดเป็นบวก (Positive Cash Flow) เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เรามีความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่ากระแสเงินสดติดลบ (Negative Cash Flow) และจำเป็นต้องวางแผนการเงินใหม่เพื่อจัดการกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

ตัวอย่างการบริหารกระแสเงินสด

ทุกเดือน เรามีค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าไฟ 50,000 บาท ค่าวัตถุดิบ 200,000 บาท และเงินเดือนพนักงาน 150,000 บาท รวมเป็นรายจ่ายทั้งหมด 400,000 บาท ซึ่งต้องชำระตอนสิ้นเดือน ดังนั้น เราจึงวางแผนการขายและตั้งเป้ายอดขายสินค้าที่ 500,000 บาท

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เดือนนี้เราจะมีเงินเหลือ 100,000 บาท (กระแสเงินสดเป็นบวก) บริษัทที่มีเงินเหลือย่อมมีอิสระในการใช้จ่าย หรือที่เราเรียกว่ามีสภาพคล่องทางการเงิน หากต้องการเพิ่มยอดขายในอนาคต เราสามารถใช้เงินจำนวนนี้ซื้อวัตถุดิบเพิ่มหรือจ้างคนเพิ่มเพื่อเพิ่มกำลังผลิต หรือหากต้องการเตรียมเงินก้อนนี้ไว้รองรับเหตุฉุกเฉินในอนาคต ก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในทางกลับกัน หากบริษัทไม่สามารถขายสินค้าได้ตามเป้า บริษัทก็จะมีความเสี่ยงในการชำระค่าใช้จ่ายในจำนวนและเวลาที่กำหนด ความคล่องตัวในการทำธุรกิจก็จะน้อยลง ส่งผลถึงความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการชะงักตัวของธุรกิจในอนาคตหากไม่สามารถหาเงินมาเพิ่มได้

การดูแลและคาดการณ์งบกระแสเงินสดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทต้องทำ เพราะหากเราไม่ดูแลและวางแผนงบกระแสเงินสดให้ดี ให้รายรับและรายจ่ายมีความสมดุล ธุรกิจก็จะสะดุดแน่นอน

เพื่อให้เราเข้าใจงบกระแสเงินสดลึกซึ้งมากขึ้น มาดูรายละเอียดเพิ่มเติมกัน

งบกระแสเงินสดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

  1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Cash Flow from operating activities - CFO) หมายถึง กระแสเงินสดที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วยรายการรับและจ่ายเงินสดที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลักของกิจการ เช่น รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการ ต้นทุนขาย ค่าเสื่อมราคา ค่าเช่า ค่าจ้าง ค่าภาษี
  2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Cash Flow from investing activities - CFI) หมายถึง กระแสเงินสดที่เกิดจากการลงทุนต่าง ๆ จากการได้มาและจำหน่ายสินทรัพย์ระยะยาวต่าง ๆ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ดิน อาคาร หรือการลงทุนในหลักทรัพย์หรือกิจการอื่น
  3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินทุน (Cash Flow from Financing Activities - CFF) หมายถึง กระแสเงินสดที่เกิดจากการจัดหาเงินทุนจากภายนอกกิจการ หรือการใช้เงินทุนจากภายในกิจการ เช่น การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน การซื้อคืนหุ้น หรือการจ่ายปันผล

ตัวอย่างประเภทรายรับรายจ่ายในงบกระแสเงินสด

  รายรับ (+) รายจ่าย (-)
กระแสเงินสดจากการกิจกรรมดำเนินงาน
  • การขายสินค้า/บริการ
  • การรับชำระหนี้จากลูกหนี้
  • การรับบริจาค/เงินช่วยเหลือ
  • การได้รับดอกเบี้ยรับจากบัญชีเงินฝากธนาคาร
  • การซื้อสินค้า
  • การชำระหนี้ให้เจ้าหนี้การค้า
  • การดำเนินงานต่างๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า เงินเดือน
กระแสเงินสดจากการกิจกรรมลงทุน
  • การขายที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
  • การขายเงินลงทุนระยะยาว หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกิจกรรมดำเนินงาน
  • การซื้อที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์
  • การลงทุนระยะยาว
  • การซื้อสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกิจกรรมดำเนินงาน
กระแสเงินสดจากการกิจกรรมจัดหาเงินทุน
  • การออกจำหน่ายหุ้นทุน หรือหลักทรัพย์หุ้นทุนอื่น
  • การออกจำหน่ายหุ้นกู้
  • จากการกู้ยืมเงินระยะยาวจากสถาบันการเงิน 
  • การชำระหนี้เงินกู้ระยะยาว
  • การจ่ายเงินปันผล
  • การซื้อหรือไถ่ถอนหุ้นทุนของกิจการ

 

การคำนวณงบกระแสเงินสด

การคำนวณงบกระแสเงินสดทำได้ 2 วิธี คือ ทางตรง และ ทางอ้อม แม้การแสดงรายการอาจต่างกันบ้าง แต่ผลลัพธ์ก็ยังคงเท่ากันเหมือนเดิม

การคำณวนกระแสเงินสดทางตรง

  • เงินสดคงเหลือต้นงวด
  • +/- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน
  • +/- เงินสดสุทธิจากกิจกรรมลงทุน
  • +/- เงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงินทุน
  • = กระแสเงินสดปลายงวด

การคำณวนกระแสเงินสดทางอ้อม

  • กำไรสุทธิก่อนดอกเบี้ย เงินปันผล และภาษี
  • +/- รายการปรับปรุง
  • +/- การเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เพิ่ม เงินสดลบ หนี้สินเพิ่ม เงินสดบวก
  • +/- เงินสดรับและจ่ายจากดอกเบี้ย ปันผล ภาษี

ที่มา www.investree.co.th