การดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เป็นการคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย และคุ้มค่าต่อการร่วมมือหรือลงทุนร่วมกัน ความยืดหยุ่นในการผลิต มาตรฐานในกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ โดยอยู่บนพื้นฐานภายใต้ข้อตกลงทางการค้าและความพึงพอใจของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ดังนั้นธุรกิจจึงต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล มีความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าและบริการ ด้วยคุณภาพที่ดีกว่า ราคาถูก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการมีนวัตกรรมที่เหนือคู่แข่งขันในท้องตลาด
ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้กระบวนการทำงานในการผลิตสินค้าหรือบริการในการดำเนินธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนที่จะทำให้เกิดความประหยัดและลดความสูญเปล่าที่อันอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการการทำงานให้น้อยที่สุด รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) ในกระบวนการทำงานอีกด้วย จึงมีการนำแนวคิดการขจัดความสูญเปล่า 7 ประการ (7 Waste) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ความสูญเสียที่เกิดจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
จะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการ และเตรียมพร้อมในตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการผลิตสินค้ามากกว่าที่ลูกค้าต้องการและการผลิตสินค้าก่อนความต้องการ อันทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ แรงงาน ค่าจัดเก็บสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เป็นต้น
2. ความสูญเสียที่เกิดจากการรอคอย (Waste of Waiting)
เกิดจากการขาดความสมดุล อันเนื่องมาจากการวางแผนการไหลของวัตถุดิบในกระบวนการผลิตที่ไม่ลงตัวหรือไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นจากความไม่สมดุลความเร็วในการผลิต ความล่าช้าในการผลิต ระยะทางระหว่างกระบวนการผลิตที่ห่างไกลกัน การเติมวัตถุดิบในคลังสินค้า ความไม่สัมพันธ์ของเครื่องจักรอัตโนมัติกับพนักงานที่ทำงานแบบ Manual หรือแม้กระทั่งจากความสามารถของพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่ในการส่งมอบงานต่อกัน เป็นต้น
3. ความสูญเสียที่เกิดจากการขนส่ง (Waste of Transportation)
มีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากการเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังกระบวนการผลิต การจัดเก็บในคลังสินค้า/สินค้าคงคลัง การขนย้ายไปไว้ชั่วคราว ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือการขนส่งวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จระหว่างโรงงาน เป็นต้น
4. ความสูญเสียที่เกิดจากการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง (Waste of Warehouse and Inventory)
คลังสินค้าและสินค้าคงคลังมักเป็นการทำงานคู่กัน โดยจะต้องประสานกันในเรื่องของวัตถุดิบในการผลิต วัตถุดิบระหว่างการผลิต สินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าสำเร็จรูป โดยจะต้องไม่ให้มีการเก็บไว้มากเกินความจำเป็น หรือการใช้ในกระบวนการการผลิต รวมถึงการกำหนดพื้นที่ในเก็บรักษา และอุปกรณ์ที่ใช้ในวางเรียงจัดเก็บภายในคลังสินค้า หากละเลยการใช้วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าสำเร็จรูป ไว้ในสต็อกนานจนเกิดความเสียหายจัดเป็นของเสีย
5. ความสูญเสียที่เกิดจากของเสียมากเกินไป (Waste of Defect)
มักเกิดจากการผลิตที่ผิดพลาด การผลิตเป็นจำนวนมาก (Mass Production) การซ่อมหรือการปรับแต่งเครื่องจักรที่ยังไม่ลงตัว หรือเกิดจากการตรวจนับของเสียที่ผิดพลาด รวมถึงจากการนำงานเก่ามาแก้ไขใหม่อีกด้วย
6. ความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการการผลิตและกระบวนการทำงานมากเกินไป (Waste of Processing)
มักจะมีการออกแบบกระบวนการผลิต/การทำงานที่มีขั้นตอนมากเกินความจำเป็น จนนำไปสู่ความซ้ำซ้อนในการทำงาน ความไม่สะดวกสำหรับพนักงานในการทำงาน รวมถึงมีการตรวจสอบทุกๆ จุดกระบวนการทำงาน ดังนั้นการตรวจสอบกระบวนการผลิต/การทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ควรนำทบทวนตลอดเวลา
7. ความสูญเสียที่เกิดจากการเคลื่อนไหวมากเกินไป (Waste of Motion)
มักจะพบได้ภายในโรงงานทั่วไป โดยเกิดจากการออกแบบสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม และขาดมาตรฐานในการทำงาน ส่งผลให้คุณภาพของงานที่ออกมาไม่มีความสม่ำเสมอ หรือต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น
4 วิธีลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน
1. พยากรณ์ความต้องการของลูกค้า (Forecasting Demand)
จะช่วยให้บริษัท/องค์กร สามารถกำหนดทิศทางในกำลังการผลิตและบุคลากรในการวางแผนการผลิต รวมถึงทราบถึงปริมาณความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางแผนเตรียมปัจจัยในการผลิต
2. นำระบบการสั่งซื้อแบบทันเวลามาใช้ (Just in Time : JIT)
ใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวในการผลิต ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขทั้งปริมาณการผลิต ปริมาณของเสียได้อีกด้วย รวมทั้งปรับการจัดวางผังโรงงานที่ดี (Plant Layout) ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้
3. ตรวจสอบการทำงานของพนักงานหน้างานให้มากขึ้น
หากเกิดการผิดพลาดของกระบวนการในจุดใดจุดหนึ่ง ต้องรีบหาสาเหตุ (Problem Solving Process) และแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็วก่อนการผลิตใหม่จะเริ่มขึ้น รวมถึงการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น และการให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
4. การจัดทำกิจกรรม 5 ส
ประกอบด้วย สะสาง (SEIRI) สะดวก (SEITON) สะอาด (SEISO) สุขลักษณะ (SEIKETSU) สร้างนิสัย (SHTSUKE) ซึ่งเมื่อมีการทำ 5 ส อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะพบว่าที่ทำงานหรือสถานประกอบการของเรานั้นมีความปลอดภัย มีบรรยากาศน่าทำงาน ไม่มีความสูญเปล่าเกิดขึ้นในการทำงาน ลดการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดอัตราของเสีย (Defects) จากการผลิต ลดการเก็บสินค้าหรือการมีของคงคลัง (Excess Stock) ที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง อันจะยังผลให้หน่วยงานมีความมั่นคงเข้มแข็งได้
การลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังช่วยลดมลภาวะ มลพิษต่างๆ นอกจากนี้ทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานดีขึ้นอีกด้วย
ที่มา bangkokbanksme.com แหล่งอ้างอิง : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม