กฎหมายเกี่ยวกับตัวสินค้า
สินค้าบางประเภท เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาและสารเคมีบางชนิด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชนิดรวมทั้งสุรา จำเป็นต้องได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนก่อนจึงสามารถ “ผลิต” “จำหน่าย” หรือ “นำเข้า” ได้โดยการอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนนั้น ก็เป็นไปตามกฎระเบียบของแต่ละหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาหรือตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แน่ชัดการแสดงรายละเอียดของสินค้า ผู้ประกอบการควรปฏิบัติดังนี้
1.ราคาของสินค้า : ต้องแสดงราคาเป็นตัวเลขอารบิกให้ชัดเจนและเปิดเผย หากต้องให้ลูกค้าส่งข้อความถามราคาจะผิดกฎหมาย รวมทั้งราคาที่แสดงต้องตรงกับราคาที่จำหน่ายจริง
2.ค่าใช้จ่ายอื่น : เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ต้องแสดงให้ชัดเจนและเปิดเผย
3.รายละเอียดสินค้า : แสดงรายละเอียดประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และ
รายละเอียดอื่นของสินค้าให้ชัดเจน โดยแสดงรายละเอียดเป็นภาษาไทยและอาจมีภาษาอื่นร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนี้ในกรณีที่ทำผิดแล้วมีคนแจ้ง ผู้ค้าจะเสียค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท
กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณา
พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการโฆษณาไว้ว่า การโฆษณา จะต้องไม่ใช้ข้อความ (รวมถึงภาพของสินค้า) ที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ซึ่งมีลักษณะดังนี้
1.ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
2.ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม
3.ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทาผิดกฎหมายหรือศีลธรรม
หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
4.ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
5.ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
สำหรับความผิดฐาน “โฆษณาเกินจริง” มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 40 ห้ามไม่ให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหารทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือสื่ออื่น ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ คลิปวิดีโอหรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก และผู้กระทำได้ทรัพย์สินจากผู้ที่ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 343 วรรคหนึ่ง หากการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ อาจเข้าข่ายความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) การนำข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมทั้งข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยที่ข้อมูลนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา เพจ K SME