"พี่ปวดหัวกับสต็อกที่ร้านมากเลย เหมือนว่าเงินพี่ไปจมในนั้นหมด พี่จะทำยังไงดี" คำบ่นเชิงคำถามของพี่ข้างบ้านที่เปิดร้านขายวัสดุก่อสร้าง
ย้อนถามไปว่า “แล้วพี่รู้ไหมว่า อายุสินค้า ของพี่เนี่ยมันนานเท่าไรกัน?” พี่คนนี้ตอบว่า
“ไม่เคยรู้เลย…แต่พี่มีงบการเงินถูกต้องนะ อ่านงบทุกปีเหมือนที่น้องบอกนะ”
ทีนี้งานเข้าเลยล่ะ เพราะการอ่านงบบางครั้งอาจไม่ตอบโจทย์ ถ้าเราไม่ได้วิเคราะห์ลงลึกในองค์ประกอบที่เราสนใจ ฉะนั้นขอเสนอตอนที่ว่า “รู้จักวิธีคำนวณอายุสินค้า” แล้วลองมาดูกันต่อว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องเงินจมของพี่คนนี้กันได้ไหม
อายุสินค้า คืออะไร?
อายุสินค้า ในที่นี้ หมายถึง อายุการขายสินค้า ว่าสินค้าที่เราซื้อมาใช้เวลาทั้งสิ้นกี่วันกว่าจะขายออกไปให้ลูกค้าได้ ถ้าใครเก็บข้อมูลสินค้าไว้ดีๆ อาจคำนวณอายุสินค้าแบบรายตัวได้เป๊ะๆ เลย แต่สำหรับวิธีที่เราจะแนะนำนี้เป็นวิธีช่วยคำนวณอายุสินค้าแบบเฉลี่ยทั้งคลังแบบคร่าวๆ ซึ่งเหมาะกับเจ้าของธุรกิจที่ไม่มีข้อมูลสินค้าแต่ละชนิดแบบละเอียดพอ แต่อยากรู้สถานะความเร็วช้าของการระบายสินค้าของตัวเองแบบง่ายๆ จากข้อมูลในงบการเงิน
สูตรคำนวณอายุสินค้า
คำนวณจากสูตรง่ายๆ แบบนี้
อายุสินค้า = (365 วัน x สินค้าคงเหลือเฉลี่ย)/ต้นทุนขาย
แล้วเรามาลองเปิดงบแล้วคำนวณไปพร้อมๆ กัน
“สินค้าคงเหลือเฉลี่ย” เราได้มาจากข้อมูลใน “งบแสดงฐานะการเงิน” ปกติแล้วงบนี้จะบอกสถานะการเงินเปรียบเทียบกัน 2 ปี อยู่แล้ว วิธีง่ายๆ เราแค่เอาตัวเลขสินค้าคงเหลือต้นปีกับปลายปีมาเฉลี่ยกัน
“ต้นทุนขาย” แน่นอนตัวนี้เราเอามาจาก “งบกำไรขาดทุน” ประจำปี หยิบมาใช้ได้ง่ายๆ เลยล่ะ
จากตัวอย่างในภาพเราลองเอามาแทนค่ากันดู
สินค้าคงเหลือเฉลี่ย = (1+3)/2 = 2 ล้านบาท
ต้นทุนขาย = 9 ล้านบาท
ทำให้ได้ “อายุสินค้า” = (365×2)/9 = 81 วัน
รู้อายุสินค้าแล้วได้อะไร?
อายุสินค้าที่คำนวณได้ 81 บอกเราว่า ตั้งแต่เรามีสินค้านี้ เราใช้เวลาทั้งสิ้นกี่วันกว่า 81 วันกว่าจะขายได้ …อันนี้ยังไม่นับว่าขายไปแล้วจะได้เงินทันทีหรือไม่นะ
ที่นี้พอรู้ว่าเราใช้เวลา 81 กว่าจะขายสินค้าได้แล้ว เราจะได้อะไร
1. เงินจมไปนานเท่าไร
เช่น ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อสินค้ามา เราเสียเงินออกไป ค่าลงทุนในสินค้า และต้องรอกว่า 81 วันจึงจะขายได้ นั่นแปลว่า อย่างน้อยเงินสำรองในธุรกิจต้องมีไม่ต่ำกว่า 81 วันนะ
2. บริหารสินค้าได้ดีไหม
วิธีนี้ช่วยให้เราคำนวณเปรียบเทียบอายุสินค้าของตัวเองกับคู่แข่งได้ ยิ่งขายสินค้าได้ช้า ก็ยิ่งแปลว่าเราบริหารสินค้าได้ไม่ดีพอ เช่น เราใช้เวลา 81 วันในการขาย แต่คู่แข่งใช้เวลา 60 วัน อาจตีความง่ายๆ ได้ว่าเราบริหารสินค้าได้แย่กว่าคู่แข่ง และปัญหาที่อาจตามมาคือ สินค้าล้าสมัย เสื่อมคุณภาพ
3. เก็บสินค้าไว้เยอะไปหรือเปล่า
บางทีเราอาจจะขายสินค้าได้แบบปกติ ไม่ได้คิดว่าระบายช้าหรืออะไร แต่ว่าพอมาคำนวณเปรียบเทียบอายุ เราอาจพบว่าอายุดูสูงเกินความเป็นจริง นั่นอาจเป็นเพราะตัวแปรอย่างสินค้าคงเหลือมีเยอะเกินไปในตอนต้นและปลายปี การแก้ปัญหานี้อาจทำได้ง่ายๆ แค่ไปลดจำนวนสต็อกสินค้าลง
ในความเป็นจริง การรู้อายุสินค้าของธุรกิจเรา อาจไม่ได้ช่วยแค่แก้ปัญหาเงินทุนจม แต่ยังช่วยให้เราบริหารสินค้าได้ดีขึ้น และเตรียมเงินสำรองสำหรับใช้จ่ายในธุรกิจได้เหมาะสมขึ้น
ถ้าวันนี้เพื่อนๆ เป็นคนทำธุรกิจแบบที่ต้องมีสต็อกสินค้าไว้ ลองใช้วิธีคำนวณ “อายุสินค้า” มาวิเคราะห์คู่กับงบการเงินดู มันอาจจะช่วยลดปัญหาเงินจม ของเยอะ และเรื่องปวดหัวจากสต็อกไปได้มากเลยล่ะ
ที่มา www.zerotoprofit.co