นิติบุคคล คิดให้ถี่ถ้วน ก่อน ขอคืนเงินภาษี

เมื่อเจ้าของธุรกิจได้มีการจดทะเบียนเป็น "นิติบุคคล" รายได้จากการประกอบกิจการ จะต้องมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี และถ้าหากกิจการมียอดการเสียภาษีเกินไว้ ก็สามารถขอคืนเงินภาษีได้ แต่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนว่า ควรจะขอคืนเงินภาษีหรือไม่ และรับได้กับผลลัพธ์ที่จะตามมา เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วสรรพากรจะต้องขอเอกสารเพิ่มเติม หรือเข้าตรวจสอบเพื่อพิจารณาคืนเงินภาษี และในบางรายที่ทำบัญชีไม่ถูกต้อง การขอคืนภาษีกลับเป็นการทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มแทน ดังนั้นกิจการสามารถขอคืนเงินภาษีแบบไหนได้บ้าง และควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้เงินภาษีคืนแบบถูกต้อง รวดเร็ว มีเงื่อนไขอย่างไรบ้างต้องไปอ่านกัน

ขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่เมื่อใดที่ธุรกิจบริการได้รับเงินค่าจ้าง จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ตามประเภทธุรกิจของตนเอง เช่น ค่าจ้างทำของ 3% ค่าขนส่ง 1% ค่าโฆษณา 2% เป็นต้น ซึ่งการเสียภาษีดังกล่าวเมื่อกิจการยื่นภาษีแล้ว พบว่าได้เสียภาษีเกินกว่ายอดที่ต้องชำระ กิจการก็สามารถขอคืนเงินภาษีจากสรรพากรได้

โดยเงื่อนไขของการขอคืนเงินภาษี คือ

1.เป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีแล้ว แต่นำส่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี

2.ระยะเวลาในการขอคืนภาษี โดยผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษีสามารถยื่นคำร้องได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบฯ ภาษี เช่น กิจการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ภาษี (ภ.ง.ด.50) ภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชี หลังจากนั้นจะมีเวลาในการขอคืนภาษีภายใน 3 ปี

แต่ก่อนจะขอคืนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้น กิจการต้องเช็กความพร้อมก่อนว่า

  • มีเงินขอคืนภาษีมากพอหรือไม่
  • การจัดการบัญชี เอกสารต่างๆ ถูกต้อง พร้อมให้สรรพากรเข้ามาตรวจหรือไม่

เพราะหลังจากขอคืนเงินภาษีแล้ว ทางสรรพากรจะต้องขอเอกสารเพิ่มเติม หรือเข้าตรวจเอกสารหรือซักถามข้อมูลต่างๆ ถ้าหากการจัดการบัญชี หรือเอกสารไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน คำนวณแล้วต้องเสียภาษีเพิ่ม อาจทำให้ได้คืนเงินภาษีน้อยลงกว่าที่ขอคืน หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือ คำนวณแล้วกลับต้องเสียเงินเพิ่มให้สรรพากรก็ได้ โดยวิธีการขอคืนเงินภาษีมี 2 แบบ คือ

1.ยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานประเมิน ตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50

2.ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10)

ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

1.นำเครดิตภาษีที่มีเหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษี ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ไปใช้สิทธิชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ในเดือนถัดไป

โดยวิธีการขอคืนคือเมื่อยื่นแบบ ภ.พ.30 และมีเครดิตภาษีเหลืออยู่ของเดือนนั้น ถ้าไม่ลงชื่อขอคืนภาษี ให้ถือว่ามีความประสงค์จะนำเครดิตภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป แต่ถ้าในเดือนถัดไปไม่ได้นำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่มาชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จะยกยอดเครดิตภาษีข้ามไปเดือนอื่นอีกไม่ได้

แต่ให้เลือกขอคืนเป็นเงินสด โดยยื่นคำร้องขอคืนภาษีด้วยแบบ ค.10 ซึ่งการขอคืนภาษีเป็นเงินสดหรือขอโอนเข้าบัญชีธนาคาร ให้ผู้ประกอบการลงลายมือชื่อในแบบ ภ.พ.30

2.เป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้ขอคืนภาษีด้วยการเครดิตภาษีตามข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น

3.เป็นการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากผู้นำเข้าเป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอง สามารถยื่นคำร้องได้ ณ ที่ว่าการอำเภอของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ถ้าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเอง ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี ณ ด่านศุลกากรขาเข้า

ทั้งนี้ หากผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้ง หรือติดคดีในชั้นศาล การขอคืนภาษีสามารถทำได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ส่วนใหญ่สำหรับธุรกิจขายสินค้าและให้บริการ รวมถึงนำเข้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ผู้ระกอบการจะไม่นิยมขอคืนภาษี และใช้วิธีเครดิตภาษีซื้อไปหักภาษีขายในเดือนถัดไปแทน แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้ประกอบการว่าจะเลือกใช้วิธีเครดิตภาษีหรือขอคืนภาษี ในกรณีที่ขอคืนภาษีทางสรรพากรจะต้องเข้ามาตรวจสอบ

ดังนั้น หากผู้ประกอบการทราบอยู่แล้วว่า ธุรกิจของตนเองไม่มีทางที่จะมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้ออย่างแน่นอน เมื่อมีภาษีซื้อให้ขอภาษีคืนตั้งแต่เปิดบริษัทครั้งแรก เพื่อให้สรรพากรเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของภาษีที่เสียไป ตรวจเดือนต่อเดือนเพื่อไม่ให้สะสมมาก ก็จะมีโอกาสผิดพลาดน้อยและก็ได้เงินคืนภาษีเร็ว

ในทางกลับกัน ถ้าทราบอยู่แล้วว่ามีโอกาสที่ภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อบ่อยครั้ง ให้ขอเป็นเครดิตภาษีเพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาเมื่อสรรพากรเข้าตรวจสอบ อาจไม่ได้เงินภาษีคืนแถมเสียเงินเพิ่มอีกด้วย แต่ถ้าหากต้องการขอคืนภาษีเป็นเงินสดหลังจากดำเนินกิจการมาหลายปีแล้ว ก็สามารถทำได้โดยกิจการจะต้องมั่นใจว่าได้ทำบัญชีถูกต้องเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบ

การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ

ขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น กิจการที่มีรายได้จากดอกเบี้ยรับจากการให้กู้ยืม หากได้มีการนำส่งภาษีแล้ว แต่นำส่งเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้ สามารถขอคืนภาษีได้โดยสามารถยื่นคำร้องได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันครบกำหนดยื่นแบบฯ ภาษี ด้วยแบบคำร้อง ค.10

ทั้งนี้ ในการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ สามารถยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ ภาษี เช่นเดียวกับการขอคืนภาษีอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น แบบ ภ.ง.ด. หนังสือจดทะเบียนบริษัท และหลักฐานอื่นๆ ที่จะต้องใช้ในการประเมิน และหลังจากยื่นคำร้องเสร็จแล้ว หากผู้ประกอบการต้องการยกเลิกการขอคืนภาษีก็สามารถทำได้ โดยเข้าไปแจ้งพนักงานที่สรรพากรว่าไม่ต้องการขอคืนภาษีแล้วเท่านั้น

ขอคืนภาษีได้เร็วขึ้น...ผ่านระบบพร้อมเพย์

ปัจจุบันมีการนำบริการขอคืนภาษีผ่านระบบโอนเงินแบบพร้อมเพย์มาใช้ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการคืนเงินภาษี โดยนิติบุคคลสามารถใช้ระบบการคืนเงินผ่านพร้อมเพย์ได้ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

  • เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์แล้ว
  • เป็นนิติบุคคลที่มีเงินคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
  • เป็นนิติบุคคลที่ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล เช่น ไม่ได้กำลังควบรวมกิจการ หรือโอนกิจการ

สำหรับกิจการที่ตรงตามเงื่อนไขข้างต้น และลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้เรียบร้อยแล้ว ทางสรรพากรจะทำการคืนเงินภาษีเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผูกไว้กับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก

ส่วนกิจการอื่นๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขดังที่กำหนด ยังสามารถขอคืนเงินภาษีช่องทางอื่นๆ ได้อีก เช่น โอนเงินแบบธรรมดา การคืนภาษีเป็นเช็ค โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกดำเนินการได้ตามความสะดวกของแต่ละองค์กร แล้วทางสรรพากรก็จะทำการคืนเงินภาษีผ่านเช็คหรือโอนคืนเงินภาษีผ่านบัญชีธนาคารนั้นๆ ได้เช่นกัน

ดังนั้น ในการขอคืนภาษีกิจการควรศึกษาเงื่อนไขในการขอคืนภาษีแต่ละประเภทให้ดีเสียก่อน รวมถึงเตรียมข้อมูลและเอกสารที่ต้องใช้ให้พร้อมเมื่อสรรพากรเข้าตรวจสอบ เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบของสรรพากร ซึ่งจะส่งผลให้กิจการได้เงินคืนไวนั่นเอง

ที่มา www.bangkokbiznews.com Source : Inflow Accounting