ทฤษฏี “7S” คือ 7 สิ่งที่ธุรกิจจะต้องมีเพื่ออนาคต
1. จุดแข็ง (Strength)
“การมีจุดแข็งคือความได้เปรียบที่ดีที่สุด” ไม่ว่าจุดแข็งนั้นจะอยู่ในรูปสินค้า การบริการ หรือว่าวัฒนธรรมขององค์กร สิ่งใดก็ตามที่ยากต่อการเลียนแบบจะทำให้เราอยู่เหนือกว่าคู่แข่งได้เสมอ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการพัฒนาจุดแข็งนี้อย่างต่อเนื่องพร้อมกับการกำจัดจุดอ่อนที่มีให้ค่อยๆลดขนาดลง จุดแข็งที่ดีย่อมทำให้เกิดความมั่นใจและทำให้ทีมงานฮึกเฮิมว่าไม่มีใครสามารถก้าวขึ้นมาทัดเทียมได้ เมื่อมีพลังเหล่านี้ขับเคลื่อนอยู่ย่อมส่งผลด้านบวกที่คู่แข่งเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน
2. ตำนานและเรื่องราว (Story) Profile
ไม่ได้สำคัญแค่เรื่องความเป็นมา การนำ Profile มาร้อยเรียงต่อกันให้เป็น Story คือวิธีเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากที่สุด ลูกค้าจำนวนมากมองที่ความเป็นมา จากอดีตถึงปัจจุบันธุรกิจผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความยากลำบากมาอย่างไร เป็นการนำเสนอที่เกิดแง่มุมประทับใจ แน่นอนว่านี่คือการกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกว่าเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้น บางครั้ง Story ที่ดีก็อาจเป็น Strength ได้เหมือนกัน
3. เอกลักษณ์แบบเฉพาะตัว (Style)
“ถึงอย่างไรเราก็ต้องอยู่ในยุคปัจจุบัน” เป็นคำกล่าวของธุรกิจที่บอกว่าลำพังแค่ Story ยังไม่ใช่พลังที่สูงสุดของธุรกิจ การสรรหา Style คือการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยไม่ว่าจะรูปแบบสินค้าหรือว่าบริการ ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในความสนใจของ Target แม้บางครั้งลูกค้าอาจชอบความสะดวก ง่าย สบาย แต่สิ่งที่ทำให้จดจำและพร้อมบอกต่อก็คือ Style ที่ถือว่าเป็นกุญแจดอกใหญ่ในการทำธุรกิจนั้นๆ
4. บริการที่ดีเกินกว่าจะบรรยาย (Service)
สิ่งที่คุณต้องจดจำในการทำธุรกิจคือไม่ว่าสินค้านั้นๆจะเลิศเลอเพอเฟคสักแค่ไหน ก็ห้ามเรื่องมาก อวดเด่น ถือดี โดยเฉพาะลูกค้าในเอเชียยังต้องการความเข้าใจ เข้าถึง การบริการที่ดีที่เข้าใจง่ายยังทำให้เรารักษาฐานลูกค้าสำคัญไว้ได้ด้วย มีคำกล่าวว่า “ถ้าลูกค้าเบนไปหาคู่แข่งเพียงครั้งสองครั้ง ก็อาจเป็นปัญหาใหญ่ของเราในอนาคตได้” สินค้าหลายอย่างสร้างสรรค์มาอย่างดีแต่มาเสียท่าในเรื่องบริการก็มีไม่น้อยทีเดียว
5. ความจริงใจในธุรกิจ (Sincerity)
เป็นหลักแห่งปรัชญาเหมือนสุภาษิตจีนพูดว่า “ถ้าเพื่อนนั่งพื้น เราก็ต้องนั่งพื้นคุยกับเพื่อน” หมายถึงว่าเราต้องอยู่กันด้วยความจริงใจ อันจะทำให้การทำงานเดินหน้าได้สะดวกมากขึ้น เรื่องธุรกิจมีคำว่า “เงิน” มาเกี่ยวข้อง และด้วยคำเดียวกันนี้ก็ทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อกัน องค์กรที่ดีต้องสร้าง Sincerity ให้เป็นเหมือนจิตวิญญาณทุกคนต้องทำด้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่การบังคับ
6.ว่องไวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น(Sensitivity)
คนที่จะก้าวมาเป็นผู้นำต้องมี 4 หู 6 ตา นั้นคือต้องรู้มากกว่า ต้องไวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด อย่าให้เหมือนทฤษฏี “กบต้ม” คือกว่าจะรู้ว่าร้อน ก็เป็นกบสุก หนีไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องตายในที่สุด หลายธุรกิจที่หนีไม่พ้นเรื่องนี้ก็ต้องประสบปัญหาอันหนักหน่วงเช่นฟิล์มโกดักและฟูจิ ที่ถูกกระแสของดิจิตอลกลบกลืนหายไปในวังวนของธุรกิจ ดังนั้นรู้สึกได้ไว แก้ไขได้ก่อน เดินหน้าไปรอดในการแข่งขันได้แน่นอน
7.ตอบสนองความต้องการของสังคม(Sustainability)
ธุรกิจยุคใหม่จะเดินหน้าเรื่องผลประกอบการอย่างเดียวไม่ได้ สังคมรอบข้างจะเป็นคนมองเข้ามาในธุรกิจที่ทำอยู่ เหมือนธุรกิจยิ่งดียิ่งอยู่สูงคนยิ่งเห็นมากความคาดหวังก็ยิ่งสูง นั้นคือการคืนกำไรให้สังคม และต้องไม่ใช่การทำเพื่อรักษาหน้าแต่ต้องเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความจดจำที่ดีร่วมกันและไม่ต่อต้านในอนาคตและถือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ทฤษฏี 7S เป็นเหมือนกรอบกำหนดทิศทางองค์กรภาคธุรกิจแต่ในรายละเอียดปลีกย่อยยังแฝงกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญไว้อีกมาก ผู้ที่สนใจการพัฒนาควรเรียนรู้มากขึ้นเพื่อให้เป็นธุรกิจที่มีอนาคตการหมั่นศึกษาและต่อเติมความรู้อย่างไม่สิ้นสุด คือกุญแจสำคัญของการอยู่รอดในภาวะที่การแข่งขันมีสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา www.thaismescenter.com