ความรู้เรื่องงบการเงิน
ธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ต้องยื่นงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ทุกปี ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือร้านค้าจดทะเบียนพาณิชย์ไม่ต้องยื่นงบการเงิน เพราะไม่ใช่นิติบุคคล ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นบุคคลธรรมดามักจะสับสนเรื่องงบการเงินเพราะเวลาไปอบรมสัมมนาจะมีการสอนเรื่องงบการเงินและให้จัดทำแผนธุรกิจที่มีงบการเงินครบถ้วนด้วย โดยทั่วไปการอบรมเรื่องแผนธุรกิจจะอธิบายครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้มีความรู้ครบเมื่อนำมาใช้กับชีวิตจริงได้ ผู้ประกอบการควรหาข้อมูลและหาความรู้ในข้อกฏหมายและกฏเกณฑ์การดำเนินธุรกิจของตนเองว่ามีข้อบังคับอะไรบ้าง เช่นธุรกิจอาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่การเก็บรักษาได้ก็ต้องไปขอ อย.เป็นต้น สำหรับเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลที่ต้องจัดทำงบการเงิน จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องงบการเงินเพราะต้องลงนามรับผิดชอบในการส่งงบการเงินด้วย หากมีความผิดพลาดในการจัดทำงบการเงิน และหากไม่ได้นำส่งงบการเงินให้ตรงตามกำหนดก็มีความผิดทางอาญา ผู้ประกอบการหลายคนที่เปิดบริษัทขึ้นมาและไม่ได้มีธุรกรรมซื้อขายใดๆก็เข้าใจว่าไม่ต้องส่งงบการเงินต่อมาก็มีหมายจากตำรวจเรียกไปและก็ถูกปรับเพราะไม่ได้ส่งงบการเงิน ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่คิดจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลขอให้มีความมั่นใจว่าจะมีธุรกรรมเกิดขึ้นในกิจการอย่างแน่นอนและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฏเกณฑ์และข้อบังคับของกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรด้วย
งบการเงิน (Financial statement) คือ รายงานทางการเงินที่แสดงฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ วันสิ้นงวดบัญชี สำหรับธุรกิจทั่วไปมักจะปิดงบการเงินปีละหนึ่งครั้ง แต่สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจะปิดงบการเงินทุก 3 เดือน ส่วนประกอบของงบการเงินที่สมบูรณ์จะประกอบไปด้วย 5 ส่วนนี้คือ
1. งบแสดงฐานะทางการเงินหรืองบดุล (Balance Sheet)
2. งบกำไรขาดทุน (Profit and Loss Statement)
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ (Statement of changes in owner’s equity)
4. งบกระแสเงินสด ( Cash Flow statement)
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement)
งบการเงินตามส่วนประกอบทั้งห้าข้อบอกอะไรเราบ้าง
1. งบแสดงฐานะทางการเงินหรืองบดุล บอกถึงฐานะหรือสถานะของกิจการว่ามีทรัพย์สินและหนี้สินอะไรบ้างและจำนวนเท่าใด
2. งบกำไรขาดทุน ทำให้เราทราบถึงผลการดำเนินงานของกิจการว่ามีกำไรหรือขาดทุน ธุรกิจมีการสามารถในการดำเนินธุรกิจไหม หากขาดทุนต่อเนื่องก็อาจต้องปิดกิจการได้
3. งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ งบนี้บอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของรายการต่างๆในส่วนของเจ้าของหรือส่วนทุนนั่นเอง เช่นมีทุนเพิ่ม มีกำไรสะสมเพิ่มหรือลดลงเพราะขาดทุน มีการจ่ายเงินปันผลออกไป ทำให้เราทราบถึงการเคลื่อนไหวของเจ้าของ มักมีการจัดทำงบนี้ในบริษัทมหาชน หรือบริษัท
ขนาดใหญ่ที่มีทุนจำนวนมาก
4. งบกระแสเงินสด บอกให้เราทราบถึงกระแสเงินสดของกิจการว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลงจากกิจกรรมใดบ้างและในระหว่างปีได้นำเงินสดไปใช้ในกิจกรรมอะไร
5. หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นส่วนประกอบสุดท้ายที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจที่จะเปิดดูและมองข้ามไปแต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนที่แสดงข้อมูลทั่วไป เกณฑ์การจัดทำงบการเงิน นโยบายการบัญชีที่สำคัญ และ รายละเอียดที่ไปที่มาของตัวเลขในรายการบัญชีแต่ละรายการ ในส่วนนี้ยังบอกถึงวิธีการตัดค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน การตั้งหนี้สงสัยจะสูญ การรับรู้รายได้ รายละเอียดทรัพย์สินและหนี้สินที่มี ซึ่งในงบแสดงฐานะทางการเงินและงบกำไรขาดทุนจะมีวงเล็บข้างท้ายเป็นหมายเลขข้อของหมายเหตุประกอบงบและเราก็มาดูรายละเอียดของหมายเลขข้อนั้นจะทำให้เรามีความเข้าใจในงบการเงินนั้นมากขึ้น
เจ้าของกิจการที่เป็นนิติบุคคล ควรตรวจสอบงบการเงินของกิจการตนเองก่อนลงนาม เพราะหากมีความผิดเรื่องการปกปิดรายการใดก็จะอาจถูกปรับจากสรรพากรและยังต้องคดีอาญาได้ หากกิจการใดที่ลงบัญชีและปิดงบการเงินตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกรายการแล้ว งบการเงินนั้นก็สามารถนำมาอ่านและวิเคราะห์งบได้เพื่อนำไปวางแผนและบริหารกิจการต่อไป
ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม