การจัดทำงบกระแสเงินสดแบบง่าย

การจัดทำงบกระแสเงินสดแบบง่าย

เรามักถูกถามเวลาไปขอสินเชื่อที่ธนาคาร พนักงานสินเชื่อมักถามว่า cashflow ของกิจการเป็นอย่างไรบ้างมีเงินเหลือเท่าใดและก็จะให้เราทำ cashflow ส่งมาให้ดูก่อน เรามารู้จักกันว่างบกระแสเงินสดหรือ Cashflow statement เป็นอย่างไร งบกระแสเงินสดคืองบที่แสดงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกระแสเงินสด(สภาพคล่องของกิจการ) ของกิจการโดยบอกให้ทราบถึงแหล่งที่มา (Source) และการใช้ไป (Use) ของเงินสด กระแสเงินสดของกิจการมาจาก 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้

    1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash flow from operation)
    2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน (Cash flow from investment)
    3. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาแหล่งเงินทุน (Cash flow from financing)

    กิจการ SMEs ขนาดเล็กที่เป็นบุคคลธรรมดาและร้านค้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องจัดทำงบกระแสเงินสดเต็มรูปแบบเหมือนบริษัทระดับใหญ่หรือระดับกลางเพราะธุรกิจขนาดเล็กจะแบ่งรายการยากกว่าบริษัทมาก เพราะไม่ทราบเงินสดประเภทนี้ถูกแบ่งว่ามาจากกิจกรรมใด กิจการขนาดเล็กต้องการทราบเพียงว่าเงินสดรับและเงินสดจ่ายหักกันแล้วจะเหลือเท่าไหร่ (คือกระแสเงินสดสุทธิ) และเงินสดสุทธินี้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายไหม การจัดทำงบกระแสเงินสดมีประโยชน์มากสำหรับธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาดและมีมากที่สุดสำหรับธุรกิจที่ต้องหมุนเงินและขาดสภาพคล่องเพราะการทำงบนี้ก็เพื่อช่วยวางแผนหาเงินล่วงหน้าเพื่อมาแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องนั่นเอง กิจการที่มีรายได้สม่ำเสมอจะวางแผนการจัดหาเงินสดง่ายกว่ากิจกรรมที่มีรายได้ไม่แน่นอน เปรียบเสมือนพนักงานที่กินเงินเดือนประจำก็วางแผนการใช้เงินง่ายกว่าคนที่ทำอาชีพอิสระ ยกตัวอย่าง นางสาวแสงเดือนมีเงินเดือนประจำเดือนละ 40,000 บาท (เป็นกระแสเงินสดรับ) และมีค่าใช้จ่ายรายเดือน (กระแสเงินสดจ่าย) คือผ่อนรถ 12,000 บาท ค่าอาหาร ค่าน้ำมัน ค่ามือถือและจิปาทะอีกเดือนละ 18,000 บาท รวมมีค่าใช้จ่ายประจำเดือนๆละ 30,000 บาท เมื่อนำหักเงินสดรับจะเป็นเงินสดสุทธิที่เหลือจำนวน 10,000 บาท หากเปลี่ยนนางสาวแสงเดือนเป็นธุรกิจก็บอกได้ว่าธุรกิจนี้มีเงินเหลือเดือนละ 10,000 บาท เมื่อจะไปขอเงินกู้กับธนาคารก็สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาทเพราะถ้าผ่อนมากกว่านี้ก็จะมีปัญหาขาดสภาพคล่องแน่นอน ดังนั้นที่เราจัดทำงบกระแสเงินสดก็เพื่อให้เราวางแผนได้ว่าเดือนนี้เรายังขาดเงินอีกเท่าใดทำให้เราจัดหาเงินทุนหมุนเวียนได้ทันท่วงทีไม่ใช่ต้องวิ่งหาเงินเมื่อเงินขาดมือซึ่งจะไม่ทันการณ์และทำให้ต้องเครียดด้วย

    การจัดทำงบกระแสเงินสดที่แบ่งกิจกรรมนั้นอาจยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ ทาง BSC จึงได้จัดทำงบกระแสเงินสดในตาราง Excel ให้ผู้สนใจสามารถ download เพื่อจะได้ไปวางแผนกระแสเงินสดของตนเองได้หรือจัดทำเพื่อส่งธนาคารในการขอสินเชื่อให้เร็วขึ้น ในตารางที่จัดทำให้ download นั้นขอให้ผู้ประกอบการเติมตัวเลขเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้นส่วนในช่องสีขาวทางศูนย์ได้ผูกสูตรไว้แล้ว และงบที่จัดทำขึ้นมานี้จะเป็นงบที่จัดทำเป็นรายเดือนและรวมกันเป็นหนึ่งปีเพื่อให้วางแผนเป็นรายเดือนได้ หากเงินสดติดลบก็จะทราบว่าติดลบหรือขาดไปเท่าไหร่เพื่อไปขอยืมจากเพื่อนฝูง หุ้นส่วนหรือสถาบันการเงินได้ ทาง BSC ได้จัดทำงบกระแสเงินสดเป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่ออธิบายให้ผู้ประกอบการให้เข้าใจได้มากกว่านี้

งบกระแสเงินสด ปี 2559

รายการ  ม.ค.  ก.พ.  ม.ค.
 เงินสดต้นงวด   58,800.00   47,800.00   33,300.00
 เงินสดจากการขายเสื้อ  60,000.00   70,000.00   80,000.00
 เงินสดจากการขายเครื่องประดับ  60,000.00   40,000.00   40,000.00
 เงินสดจากรายได้อื่นๆ  50,000.00   60,000.00   40,000.00
 กระแสเงินสดรับ   228,800.00   217,800.00   193,300.00
 ค่าวัตถุดิบ  30,000.00   30,000.00  40,000.00
 ค่าวัสดุสิ้นเปลือง  4,000.00  5,000.00  4,000.00
 ค่าขนส่ง-หีบห่อ  2,000.00  3,000.00 2,000.00
ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม  5,000.00 7,500.00  5,000.00
ค่าใช้จ่ายกรรมการ  20,000.00  20,000.00 20,000.00
ค่าแรงงาน  40,000.00  40,000.00  40,000.00
เงินเดือนสำนักงาน  20,000.00 20,000.00  30,000.00
ค่าเช่า  10,000.00  10,000.00 1 0,000.00
การตลาด  5,000.00  5,000.00  5,000.00
ค่าน้ำมันและเดินทาง  5000.00  5,000.00  2,000.00
ค่าไฟฟ้า, น้ำประปา  2,000.00  2,500.00  5,000.00
ค่าโทรศัพท์  3,000.00  3,000.00 2,000.00
ค่าบำรุงรักษา 1,000.00  1,000.00  1,000.00
คืนเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ 20,000.00  20,000.00  20,000.00
ค่าประกันภัย  2,000.00  2,000.00  2,000.00
ค่าธรรมเนียมต่างๆ  2,000.00  2,500.00  2,000.00
ค่ารับรอง  -  -  -
อื่นๆ 10,000.00  8,000.00  10,000.00
กระแสเงินสดจ่าย  181,000.00  184,500.00  205,000.00
กระแสเงินสดสุทธิ  47,800.00  33,300.00  11,700.00
ได้เงินกู้มา - - -
เงินกู้จากเจ้าของ - - 20,000.00
กระแสเงินสดรับสุทธิ   47,800.00   33,300.00   8,300.00
คืนเงินให้เจ้าของ - - -
เหลือเงินสดปลายงวด   47,800.00   33,300.00   8,300.00

 

ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ

เคล็ดลับการบริหารกระแสเงินสด ให้เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ต้องทำอย่างไร

เทคนิคการบริหารเงินสดให้มีสภาพคล่อง

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

ตารางสรุป อัตราส่วน ทางการเงิน

สูตรสำเร็จตรวจเช็กสุขภาพการเงินธุรกิจ

6 กฎเหล็ก บริหารกระแสเงินสดให้ธุรกิจรุ่ง