5 ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจก่อสร้างอย่างไร
1. ทำเลต้องดี
ไม่ว่ายุคไหนก็เป็นเรื่องที่เน้นย้ำมาก ๆ ว่ามันสำคัญที่สุดของอนาคตร้านวัสดุก่อสร้าง ว่าจะรอดหรือไม่รอด … เพราะการจะเปิดร้านวัสดุก่อสร้างนั้น จะต้องมีทำเลที่ดีตั้งแต่แรก ถึงจะมีลูกค้าแวะเวียนมาที่ร้านอย่างไม่ขาดสาย เรามาดูตัวอย่างทำเลที่ดีกันค่ะ
โดยคุณจะต้องพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งที่ลูกค้ามองเห็นร้านได้อย่างชัดเจน เพื่อจะได้มีลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำเข้ามาในร้าน
จะต้องอยู่ในย่านที่เดินทางไปถึงง่ายและสะดวก เพราะต้องมีรถขนส่งวิ่งเข้า-ออก อยู่ประจำ
ที่จอดรถต้องมีความกว้างขวาง รองรับทั้งรถขนส่ง และรถของลูกค้า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อร้านวัสดุก่อสร้าง จะต้องมีรถเพื่อมาขนของกลับไป และต้องซื้อหลายอย่างด้วยกัน
คุณควรทำป้ายให้ชัดเจนว่าคุณเปิดร้านวัสดุก่อสร้าง เพื่อให้ผู้คนมองเห็นแล้วรู้ว่ามีร้านของคุณอยู่ และร้านของคุณกำลังขายอะไร หากคนที่ต้องการค้นหาร้านก่อสร้าง จะได้เข้ามาซื้อได้แบบไม่ลังเล
-
ขนาดของร้านมีความสัมพันธ์กับตลาด
ตลาดในที่นี้หมายถึง ต้องสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายบริเวณนั้น ถ้ากลุ่มเป้าหมายไม่ใหญ่มาก ก็อย่าพึ่งเริ่มเปิดร้านที่ใหญ่ เพราะมีโอกาสจมทุนสูง จำนวนรายการสินค้าที่จะขาย ก็จะต้องมีความพอดีกับขนาดของร้าน โดยแบ่งพื้นที่ไว้เป็นคลังสินค้า และบริเวณจอดรถขนถ่ายสินค้า
ควรเลือกบริเวณที่มีร้านค้าวัสดุก่อสร้างหรือคู่แข่งในพื้นที่ไม่เยอะ ยิ่งคู่แข่งน้อยยิ่งดี เพราะเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขัน รวมถึงลูกค้าจะได้เข้ามาที่ร้านของเราเป็นตัวเลือกแรก ๆ
“ทำเลดี = มีชัยไปกว่าครึ่ง”
2. การบริการต้องเลิศ
ยุคสมัยนี้การให้บริการที่ดีมีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เพราะผู้บริโภคมักจะมีตัวเลือกเยอะแยะมากมาย ถ้าเราบริการได้ไม่ถูกใจเราก็มีโอกาสที่จะเสียลูกค้าไปโดยปริยาย มิหนำซ้ำเกิดการพูดปากต่อปาก หรือเผยแพร่ต่อหากเราบริการได้ไม่ดี ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร้านได้นั่นเอง
ยิ่งเป็นตลาดร้านอุปกรณ์ก่อสร้างควรโฟกัสไปที่การบริการมากกว่าราคาสินค้า เพราะลูกค้าส่วนมากมักจะมาที่ร้านวัสดุก่อสร้างด้วยปัญหา (ปัญหาที่ว่า คือปัญหาที่พวกเขาต้องการจะแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้น เพื่อให้ได้โครงสร้างการก่อสร้างที่มีคุณภาพ)
ในการบริการจึงควรมีการจัดหาสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า มีคำแนะนำที่ถูกต้องตรงประเด็น แก้ไขได้ตรงจุดกับสิ่งที่ลูกค้าเจอ และยังต้องมาในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย
ส่วนใหญ่แล้ว ลูกค้ามักมีการเปรียบเทียบราคาระหว่างสินค้าแต่ละตัว รวมถึงราคาของร้านค้าแต่ละร้านด้วย หากร้านของคุณราคาไม่แพงเกินกว่าร้านคู่แข่งและมีบริการขนส่งที่รวดเร็ว ก็น่าจะสามารถทำยอดขายได้ไม่ยากนัก
นอกจากนี้ “การให้บริการที่ครบวงจร” ก็นับเป็นกลยุทธ์ที่ควรให้ความสำคัญหากคุณมีทุนมากพอ เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น
- การออกแบบ
- การติดตั้ง
- การซ่อมแซม
- ให้บริการตรวจเช็ค
- ทำความสะอาด
- เปลี่ยนสุขภัณฑ์
- การทาสี
- การปรับปรุงบ้าน เป็นต้น
เนื่องจากปัจจุบันการจะหาช่างซ่อมแซม ตกแต่งบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้รายได้ส่วนนี้จะไม่ใช่รายได้หลักและมีสัดส่วนไม่มาก แต่ถือเป็นจุดขายที่น่าจะสร้างความพอใจให้กับลูกค้าและดึงดูดให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าและใช้บริการร้านของคุณได้เป็นอย่างดี
ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องทำทั้งหมดที่เรากล่าวมาก็ได้ อาจจะหยิบมาบางส่วนเป็นจุดขายหลักของร้านคุณ เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้นั่นเอง
นอกจากนี้การบริการภายในร้านในเรื่องของการเทคแคร์ลูกค้า, การพูดจาที่ดี, การยิ้มแย้มแจ่มใส ก็มีผลต่อธุรกิจ
“การมีบริการที่ดี = ช่วยให้กิจการไปได้สวย”
3. เงินทุนต้องหนา
แน่นอนว่ากิจการร้านวัสดุก่อสร้างจำเป็นต้องใช้เงินหมุนเวียนจำนวนมาก เพราะต้องมีสินค้าคงคลังพร้อมขายตลอดเวลา หากเงินทุนไม่พอก็อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องและนำไปสู่การเกิดภาวะขาดทุนที่ส่งผลต่ออนาคตร้านวัสดุก่อสร้างได้
ฉะนั้นคุณจะต้องมีเงินทุนไว้มากพอ และควรมีเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินด้วย เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ
ซึ่งความเสี่ยงของธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้างคือ “ค่าใช้จ่ายประจำ” ที่ต้องจ่ายอยู่ตลอดการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็น ค่าซื้อของมาเติม, ค่าจ้างพนักงาน, ค่าปรับปรุงร้าน, ค่าปรับปรุงบริการ รวมถึงค่าโฆษณาโปรโมทร้านค้าและทำการตลาด
เจ้าของร้านจึงควรมีการบริหารจัดการรายรับ-รายจ่ายที่ดีมากพอสมควร อาจจะต้องมีนักบัญชีเพื่อทำในส่วนนี้โดยเฉพาะ จะได้รู้ว่าควรจัดสรรปันส่วนอย่างไรให้ถูกต้อง
รวมถึงการใช้จ่ายในเรื่องของสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ หมั่นตรวจเช็คอย่าให้สินค้าตกค้างในสต๊อกเยอะจนเสื่อมคุณภาพ เพื่อไม่ให้มีการซื้อของไปแล้วต้องทิ้ง
“มีเงินทุนเยอะ = ลดโอกาสที่จะเกิดการขาดทุน”
4. ความรู้เกี่ยวกับสินค้าต้องแน่น
เจ้าของร้านหรือพนักงานในร้าน ควรจะต้องมีทักษะความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่วางจำหน่ายภายในร้านพอสมควร เพราะบางครั้งลูกค้ามาหาสินค้าบางอย่าง แต่พวกเขาอาจจะเรียกไม่ถูกว่ามันคืออะไร หรือไม่ลูกค้าก็อาจจะหยิบตัวอย่างสินค้าจากที่บ้านมา
ดังนั้นคนที่ขายสินค้าในร้านจะต้องรู้ทันทีว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการนั้นคืออะไร หรือมันสามารถใช้วัสดุก่อสร้างชิ้นไหนทดแทนได้บ้าง
โดยแหล่งความรู้ที่นำมาใช้ก็อาจจะต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ประกอบการเอง, จากการพูดคุยกับลูกค้า, จากการศึกษาในอินเทอร์เน็ต, ศึกษาในคู่มือสินค้านั้น ๆ ซึ่งก็ต้องเรียนรู้เยอะมาก ๆ เลยทีเดียวค่ะ
ขณะเดียวกันคุณจำเป็นต้องพิจารณาคัดเลือกพนักงานขายสินค้า และคนขับรถขนส่งสินค้าที่มีทักษะความสามารถที่ดีด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายในขณะขนส่งสินค้าเมื่อถึงมือลูกค้า
อีกทั้งยังต้องมีการประเมินคู่แข่งด้วย โดยจะต้องประเมินครอบคลุมทั้ง 4 ด้านนี้ ได้แก่
- ความสามารถทางการผลิต
- คุณภาพสินค้า
- คุณภาพการให้บริการ
- ความสามารถในการจัดส่ง
เมื่อประเมินแล้ว ก็นำมาวิเคราะห์ว่ามีข้อไหนที่เขาได้เปรียบเรา มีข้อไหนที่เขาเสียเปรียบเรา แล้วเราควรพัฒนาไปในทิศทางไหน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงร้านของตัวเองให้ตอบสนองลูกค้ามากที่สุดค่ะ
มีความรู้และประสบการณ์ที่มากพอ = จะช่วยให้ร้านมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ ลูกค้ามั่นใจที่จะมาซื้อสินค้าร้านเรา”
5. ต้องสร้างเครือข่ายเพื่อการเติบโต
การสร้างเครือข่าย สามารถสร้างได้ด้วยการเป็นพันธมิตรคู่ค้ากับ 4 พันธมิตรหลัก นั่นก็คือ
-
ตัวแทนจำหน่ายของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่
เพื่อจะได้สินค้าที่ถูกกว่า หลากหลายมากกว่า และมีข่าวสารอะไรเกี่ยวกับวงการธุรกิจก่อสร้าง เขาจะได้นำมาแบ่งปันให้กับเราได้
-
ร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายอื่น
อาจจะมองว่าพวกเขาเป็นคู่แข่ง แต่การทำพันธมิตรไว้ก็ไม่เสียหาย เพราะพวกเขาอาจจะช่วยเหลือคุณได้ในบางเรื่อง อาศัยการเกื้อกูลกัน
เช่น วัสดุก่อสร้างบางอย่าง เราไม่ได้สต๊อกไว้ก็สามารถซื้อจากพวกเขามาจำหน่ายตอได้ หรืออาจจะแนะนำไปที่ร้านของพวกเขาเลย แล้วไปตกลงกันว่า ‘สินค้าตัวนี้ ผมไม่มี ผมจะแนะนำลูกค้าไปที่ร้านของคุณนะ’
ถ้าเขาเห็นน้ำใจของคุณและเขามีจิตใจที่ดีเช่นกันในการค้าขาย เมื่อสินค้าตัวไหนที่เขาไม่มี เขาจะแนะนำมาที่ร้านของคุณอย่างแน่นอน
-
ร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายย่อย
สินค้าบางรายการที่ร้านของคุณจัดซื้อไว้ในสต๊อกจำนวนมาก แล้วคาดว่าจะมาสามารถขายออกไปได้ในเวลาที่สมควร คุณก็สามารถนำไปขายต่อในราคาส่ง กับร้านวัสดุก่อสร้างรายย่อยได้ เพื่อเป็นการกระจายสินค้า และช่วยให้ร้านรายย่อยมีสต๊อกสินค้าเอาไว้ขายอีกด้วย
ผูกมิตร, พูดคุยแลกเปลี่ยน, สร้างความคุ้นเคยกับช่างรับเหมาก่อสร้างเอาไว้ เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าร้านของคุณเป็นกันเองและน่าเข้าหา เมื่อพวกเขามีงานเข้ามา ร้านแรกที่นึกถึงจะเป็นร้านของคุณ แล้วคุณก็จะมีลูกค้าประจำที่แวะเวียนมาที่ร้านของคุณ เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ดีเยี่ยมเลยแหละ
มีเครือข่ายที่ดี = ทำให้กิจการของร้านเติบโตและสร้างผลกำไรมากขึ้นได้ในอนาคต”
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผลให้การเปิดร้านวัสดุก่อสร้าง เพราะถ้าขาด 5 ข้อนี้ไป มีโอกาสที่กิจการจะเจ๊ง
ดังนั้นถ้าจะเปิดกิจการ คุณต้องมั่นใจว่าจะทำปัจจัยเหล่านี้เป็นไปตามเป้าหมายได้และมีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วต่อไปค่อยลิสต์ปัจจัยอื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ว่าจะเปิดร้านวัสดุก่อสร้างนี้ได้หรือไม่ ในขั้นตอนต่อไปนั่นเอง
ที่มา : pnstoretailer.com