มือใหม่อยากทำร้านอาหาร เริ่มต้นอย่างไรดี?

   ร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของผู้ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2562 โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ติดอยู่ในอันดับ 3 ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ มักจะให้ความสนใจธุรกิจร้านอาหารเป็นลำดับต้นๆ เพราะเหตุผลสำคัญคือ อาหาร เป็นปัจจัย 4 ที่คนขาดไม่ได้ ยิ่งทุกวันนี้ ร้านอาหารเสมือนเป็นสถานที่แฟชั่นให้คนยุคดิจิทัล ไปอัพสเตตัสเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์กัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายของตัวเอง เรียกว่า “เก่าไป ใหม่มา” กันไม่ขาดสาย

   สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ใช่ว่ามีสูตรอาหารอร่อย มีทำเลดี ๆ แล้วจะสามารถเปิดร้านได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องมี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ จะต้องศึกษาและรู้ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้ถ่องแท้ มาดูกันว่า ถ้ามือใหม่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง ควรรู้และต้องทำอะไรบ้าง?

เลือกรูปแบบร้านอาหารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

   ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนเลือกรูปแบบของร้านและอาหารที่ต้องการจะขายให้ชัดเจน โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทร้านอาหารเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining) และร้านริมบาทวิถี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ Kiosks, Street Food, Food Truck เป็นต้น

 

สร้างเอกลักษณ์ให้ร้านอาหาร

   เมื่อพิจารณารูปแบบของร้านอาหารได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การสร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ คือการมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเอกลักษณ์ด้วยเมนูอาหาร การให้บริการ หรือบรรยากาศภายในร้าน เป็นต้น

 

ขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง

   เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีผลต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโดยตรง ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเรื่องสถานที่จำหน่ายและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545

โดยกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท

สำหรับการการยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ  ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ดังนี้

– สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

– สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล

– สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล

– สำนักงานเมืองพัทยา

ส่วนในกรณีของร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะด้วยเช่นกัน

   นอกจากนี้ หากร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขายสุราต่อกรมสรรพสามิต โดยสามารถดำเนินการได้ที่

– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

หรือในกรณีที่ทางร้านอาหารมีการเปิดเพลง ฉายภาพวีดีทัศน์ หรือฉายภาพถ่ายทอดสดรายการที่มีลิขสิทธิ์  จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย รวมถึงการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการก็จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

 

จัดเตรียมเรื่องอาหาร สถานที่และบุคลกรให้พร้อม

   ในส่วนสถานที่ ในการก่อสร้าง / ดัดแปลงอาคาร เพื่อทำร้านอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง/ ดัดแปลงอาคาร เพราะเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

ส่วนสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสถานที่ เช่น ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ล้างมือ การจัดการด้านห้องสุขา ซึ่งจำนวนห้องสุขาจะขึ้นกับจำนวนที่นั่งในร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดการน้ำเสีย เช่น การติดตั้งบ่อดักไขมัน น้ำทิ้ง การจัดการขยะมูลฝอย เช่น การแยกเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย เนื่องจากร้านอาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีเขตปลอดบุหรี่

   ในส่วนของอาหารที่จำหน่ายก็ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด/ แห้ง/ ปรุงสำเร็จ ต้องสะอาดปลอดภัย น้ำ เช่น น้ำดื่ม/ น้ำแข็ง ต้องได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารต้องถูกต้องปลอดภัย เช่น ห้ามใช้ก๊าซกระป๋องปรุงอาหารบนโต๊ะ ตลอดจนสุขลักษณะของอุปกรณ์และภาชนะ เช่น เก็บอุปกรณ์สูงจากพื้น 60 ซม. ป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์หรือแมลงนำโรค การฆ่าเชื้อภาชนะหลังทำความสะอาด

   สุดท้ายด้านบุคคลกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หรือผู้สัมผัสอาหาร ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น คือต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้

 

จัดการเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง

   เรื่องของภาษีต่างๆ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรดำเนินการอย่างถูกต้องเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ซึ่งต้องมีการยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.40 และลดหย่อนโดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% กรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

   กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และถ้ากำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 20%

   พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายได้เกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

   นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ต้องการมีป้ายหน้าร้าน จะต้องขออนุญาตติดตั้งป้ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้าน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด โดยภาษีป้ายจะเรียกเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึก ตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา รวมถึงป้ายหน้าร้านตามร้านอาหารทั่วไป ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ส่วนอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือใช้ร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และขนาดของป้ายตามที่กำหนด

ที่มา : www.smeone.info/posts/view/73