แรงงานต่างด้าว MOU เปลี่ยนนายจ้างได้

นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวตามกฎหมาย จะต้องแจ้งความต้องการจ้างกับสำนักจัดหางานกรุงเทพฯ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดก่อน เพื่อตรวจสอบโควต้า เมื่อได้รับอนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวแล้ว กรมการจัดหางานจะออกหนังสือยืนยันโควต้า จากนั้นนายจ้างจึงยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกความเข้าใจ โดยกรมการจัดหางานจะประสานงานกับประเทศต้นทางเพื่อคัดเลือกแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ

แรงงานต่างด้าว MOU คืออะไร

แรงงานต่างด้าว MOU คือ แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับประเทศต้นทางของแรงงาน โดยบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ระบุรายละเอียดเงื่อนไขการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ และแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยประเทศที่มีการลงนาม MOU ด้านแรงงานกับไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

แรงงานต่างด้าว MOU เปลี่ยนนายจ้างได้ไหม

แรงงานต่างด้าว MOU หรือแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ จะไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ยกเว้น 4 กรณี คือ

  1. นายจ้างเสียชีวิต 
  2. นายจ้างเลิกกิจการ
  3. นายจ้างกระทำทารุณกรรม
  4. นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

สิทธิ์ในการทำงานของแรงงานต่างด้าว MOU

แรงงานต่างด้าว MOU จะได้รับสิทธิ์ในการทำงานเป็นระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี เมื่อครบ 2 ปีแรก จะสามารถขอต่ออายุการทำงานได้อีก 2 ปี รวมระยะเวลาการทำงานทั้งสิ้น 4 ปี โดยจะต้องดำเนินการต่ออายุภายในระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น ถ้าเกินกำหนดเวลาจะถือว่าใบอนุญาตทำงานขาด ทำให้ต้องเสียค่าปรับ และดำเนินการทำ MOU ใหม่เท่านั้น

นายจ้างอย่าลืมต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว

ก่อนใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุ นายจ้างต้องดำเนินการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว หรือลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว กับกรมการจัดหางานก่อนสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน e-workpermit.doe.go.th หรือที่สำนักจัดหางานตามเขตพื้นที่ สำนักจัดหางานจังหวัด พร้อมชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ ฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ฉบับละ 900 บาท 

เอกสารแรงงานที่ต้องเตรียม มีดังนี้

  • หนังสือเดินทาง (Passport)
  • การตรวจลงตราวีซ่า
  • รูปถ่าย ขนาด 3x4 ซม.
  • หนังสือรับรองการจ้าง (แบบ บต. 46)
  • หนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคล (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล)

บัตรชมพูต่างด้าว ไม่ได้เป็นการรับรองสิทธิ์ในการทำงาน

กรมการปกครองจัดทำบัตรชมพูตามระเบียบของสำนักทะเบียนกลางให้แก่ผู้ไม่มีสัญชาติไทยจาก 3 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด บัตรชมพูนี้สามารถออกให้กับแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้าง แรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน และผู้ติดตาม

ความสำคัญของบัตรชมพู คือเพื่อให้กลุ่มบุคคลต่างด้าวมีเอกสารแสดงตนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และใช้เป็นหลักฐานในการติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อขอรับสิทธิ์หรือบริการต่าง ๆ ตามกฎหมายกำหนด แต่การถือบัตรชมพูไม่ได้เปลี่ยนสถานะการเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมายคนเข้าเมือง เนื่องจากบัตรชมพูไม่ใช่หนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทางได้

ลักษณะของบัตรชมพูเป็นยังไง

บัตรชมพูจะมี 2 บัตรในบัตรเดียว คือ 

  • ด้านหน้าบัตร เป็นบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย มีเลขประจำตัว 13 หลัก ระบุรายละเอียดสำคัญของผู้ถือบัตร เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเกิด ที่อยู่ และรูปถ่าย มีหน้าตาคล้ายกับบัตรประชาชนของคนไทย

  • ด้านหลังบัตร เป็นใบอนุญาตทำงาน แบ่งออกเป็น 3 สีคือ
    • สีเขียว-แรงงานพม่า
    • สีฟ้า-แรงงานลาว
    • สีน้ำตาล-แรงงานกัมพูชา

ดังนั้น บัตรชมพูและใบอนุญาตทำงานจึงเป็นเอกสารคนละประเภท มีจุดประสงค์แตกต่างกัน แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมายจำเป็นต้องมีทั้งบัตรชมพู และใบอนุญาตทำงานด้วย

สรุปการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แรงงานต่างด้าวที่ต้องการทำงานในประเทศไทยต้องดำเนินการตามกระบวนการบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมืองอย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน นายจ้างควรจ้างแรงงานต่างด้าวตามกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย และปัญหาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของนายจ้าง

 

ที่มา เงินติดล้อ