ย่อย PDPA ให้เข้าใจง่าย

PDPA (Personal Data Protection Act) คือ 

         พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน

         พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) คือกฎหมายใหม่ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 อาจเป็นได้ทั้งข้อมูลในรูปแบบเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรือจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

ข้อมูลส่วนบุคคล 

หมายถึงสิ่งที่บ่งบอกลักษณะตัวตนของเจ้าของข้อมูลดังกล่าวได้ อาจเป็นได้ทั้งเอกสาร ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ หนังสือ เช่น บัญชีธนาคาร ไอดีไลน์ ชื่อ ที่อยู่ บัญชีผู้ใช้ของเว็บไซต์ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล รูปถ่าย ประวัติสุขภาพ ลายนิ้วมือ เป็นต้น

 

มีประโยชน์อย่างไร

PDPA เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เน้นควบคุมหน่วยงานรัฐและเอกชนเป็นหลัก

          หัวใจสำคัญ ทำมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นสำคัญ เน้นควบคุมหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ที่จัดเก็บข้อมูลของเราไว้เป็นจำนวนมาก หลังจากนี้หน่วยงานไหนที่นำข้อมูลของเราไปใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

 

เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตยังไง

          บางส่วนของกฎหมายอาจจะกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือไม่ การถ่ายรูปต่าง ๆ ในสถานที่สาธารณะจำต้องเบลอบุคคลอื่นในภาพที่ไม่รู้จัก หรือต้องไปขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราวก่อนไหม มีอะไรต้องพึงระวังเป็นพิเศษ

  • การถ่ายรูปบุคคลในครอบครัว เพื่อนฝูงยังทำได้ปกติ ลงโซเชียลมีเดียได้เหมือนเดิมหากทั้งหมดนั้นมุ่งเน้นเนื้อหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
  • หากถ่ายรูป ถ่ายคลิปติดบุคคลอื่นโดยไม่เจตนา และไม่ก่อความเสียหายให้กับผู้ที่ถูกถ่าย “เป็นสิ่งที่ทำได้” โดยทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
  • การโพสต์คลิปหรือภาพที่มีบุคคลอื่น ๆ ลงในโซเชียลมีเดีย เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลในภาพ ถือว่า “ทำได้” ไม่ผิด PDPA
  • การติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้าน หรือพื้นที่ส่วนตัว เพื่อรักษาความปลอดภัยของคนในบ้านและป้องกันการเกิดอาชญากรรม ยังคงทำได้
  • กฎหมาย  PDPA ฉบับนี้ไม่บังคับใช้กับ Personal use อย่างไรก็ตาม การแอบถ่ายผู้อื่น หรือเอาข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นไปเผยแพร่ ยังคงเอาผิดได้ตามกฎหมายอาญาหรือเข้าข่ายละเมิดทางแพ่งได้

 

ข้อยกเว้น PDPA

          การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม มีเจตนาบางส่วนที่ PDPA ละเว้นให้ และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่จัดการข้อมูลต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องแจ้งกับบุคคลดังกล่าวว่าเก็บไปเพื่ออะไร รวมถึงต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญด้วย

  • ทำตามสัญญา
  • กฎหมายให้อำนาจ
  • รักษาชีวิต และ/หรือ ร่างกายของบุคคล (การถ่ายภาพโจร หรือ การถ่ายคลิปทำร้ายร่างกาย เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นย่อมทำได้)
  • ค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
  • เพื่อประโยชน์สาธารณะ
  • ปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของตน

 

ที่มา JobsDB