หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) คือดูแลพนักงานตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย
ถ้ามองจากมุมของพนักงานทั่วไปแล้ว หน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ HR เริ่มขึ้นตั้งแต่พาคนคนหนึ่งเข้ามาเป็นพนักงาน ดูแลความเป็นอยู่ ไปจนถึงวันสุดท้ายที่มีสภาพความเป็นพนักงานคือวันที่ลาออก แต่สำหรับมุมของคนที่ทำหน้าที่ HR แล้ว หน้าที่หลักคือการสร้างสมดุลระหว่างพนักงานกับบริษัท สิ่งที่ต้องทำมีตั้งแต่
หนึ่ง Recruit รับพนักงานเข้าบริษัท โดยต้องหาคนที่ประสิทธิภาพสูงสุดภายในงบที่บริษัทจำกัดไว้เพื่อให้คุ้มค่าที่สุด
สอง Develop พัฒนาทักษะของพนักงานให้ตรงกับทิศทางของบริษัท
สาม Retain รักษาคนให้อยู่กับองค์กร ซึ่งบางตำแหน่งก็อยากให้อยู่นาน แต่บางตำแหน่งก็อยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ตามนโยบายของบริษัท เนื่องจากบางตำแหน่งต้องมีคนเข้าออกตลอดเวลาเพื่อให้ทันสถานการณ์ เช่น ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี สวัสดิการสำหรับตำแหน่งนี้ก็จะเป็นแบบหนึ่ง เงินเดือนเติบโตในระดับหนึ่ง เมื่อเขาตันเขาก็ลาออก แต่ในขณะเดียวกัน บริษัทกลุ่มรถยนต์หรือบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย บริษัทกลุ่มนี้อยากให้พนักงานอยู่แบบระยะยาว จึงต้องออกแบบสวัสดิการให้เหมาะสมและเป็นที่ดึงดูดใจอย่างการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
ความสำคัญของ HR ต่อองค์กร
มีทฤษฎีในการบริหารธุรกิจทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า 4 อย่างที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจคือ เงิน การปฏิบัติการ คน และเทคโนโลยี ในการดูแล ‘คน’ ซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำงานนั้นอาจไม่ได้ทำโดยฝ่ายบุคคลเสมอไป บางบริษัทเล็กๆ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างตำแหน่ง HR ขึ้นมา เพียงแต่หัวใจของความเป็น HR นั้นต้องยังอยู่ ผู้บริหารหรือหัวหน้างานที่ต้องดูแลทุกข์สุขของลูกน้องอยู่แล้วก็สามารถทำหน้าที่เป็น HR ที่ดีได้
ปัญหาดราม่าที่พนักงานออฟฟิศเจอและชอบมาปรึกษา
1. ปัญหาเรื่องหัวหน้า
นี่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ไม่ว่าจะสำรวจกี่ครั้งก็จะครองแชมป์อยู่เสมอ มีตั้งแต่เรื่องหัวหน้าไม่สนใจ หัวหน้าไม่ยุติธรรมเพราะใส่ใจคนที่เลียเยอะกว่า หัวหน้าไม่รักแล้วให้งานเราหนักกว่าคนอื่น แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงหรือเป็นแค่การคิดไปเองของพนักงานก็ตาม บทบาทของฝ่าย HR คือเข้ามาช่วยเป็นตัวเชื่อมให้ทั้งสองฝ่ายได้หันหน้าเข้ามาคุยกัน
2. ปัญหาเรื่องเงิน
เป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนความรู้สึกและสร้างความปั่นป่วนได้ในวงกว้าง ทั้งยังสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมให้กับหลายคนในออฟฟิศ ปัญหามีตั้งแต่ทำไมคนที่มาทีหลังได้เงินเดือนเยอะกว่าคนที่อยู่มาก่อนอย่างเรา ทำไมผลประเมินของเขาออกมาดีกว่าทั้งๆ ที่เขาดูไม่ได้เก่งไปกว่าเรา การแก้ปัญหาของ HR สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทางคือออกนโยบายให้เงินเดือนเป็นความลับ หรือแก้ที่ปลายทางคืออธิบายทำความเข้าใจเมื่อเกิดปัญหา และส่วนใหญ่เมื่อเรียกมาพูดคุยกันแล้วจะพบว่าโดยธรรมชาติคนมักจะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอีกฝ่ายเขาอาจจะเก่งกว่าหรือดีกว่าจริงๆ นั่นแหละ
3. ปัญหาเรื่องโอกาสในการเติบโต
หลายครั้งที่หลายคนพยายามเท่าไรก็ยังไม่ได้รับการผลักดันให้สู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นสักที หน้าที่ของ HR ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้คือการมองย้อนกลับไปยังผังองค์กรที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นว่าตำแหน่งนี้สามารถเติบโตไปเป็นอะไรได้บ้าง เขาสามารถขึ้นไปเป็นหัวหน้าได้ไหม หรือถ้าทำไม่ได้ HR ก็อาจต้องแนะนำอย่างจริงใจให้เขาลาออกไปทำงานบริษัทอื่นที่มีเส้นทางการเจริญเติบโตมากกว่านี้
"HR ทุกวันนี้ต้องอยู่ทั้งสองข้าง คืออยู่ทั้งข้างบริษัทที่ต้องเรียกร้อง Performance ที่ดีจากพนักงาน และอยู่ข้างพนักงานที่ต้องเรียกร้องการดูแลที่ดีจากบริษัท และทำให้พนักงานมีความสุขด้วย"
ในขณะเดียวกันก็มีพนักงานบางส่วนที่ไม่สนใจจะเติบโต แค่อยู่ไปวันๆ อย่างไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร HR ก็ควรต้องเข้าไปดูแลคนกลุ่มนี้โดยผลักดันให้เขาแสดงความสามารถมากขึ้น ให้เขามองอนาคตตัวเองในระยะยาว แต่ในกรณีของพนักงานบางคนที่ไม่อยากก้าวขึ้นไปเป็นหัวหน้า เพราะไม่อยากมีความรับผิดชอบมากขึ้นตามตำแหน่ง HR ก็อาจจะทำอะไรไม่ได้นอกจากปล่อยให้เขาอยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน การที่บริษัทจะเอาอนาคตไปฝากไว้กับคนที่ขาดแพสชันในการทำงานก็ไม่ใช่เรื่อง HR จึงอาจต้องวางแผนกันใหม่กับหัวหน้างาน เปลี่ยนไปพัฒนาคนที่อยู่ตำแหน่งถัดลงไป แล้วให้โอกาสเขาขึ้นมาแทน อย่างนี้ก็เป็นได้
ที่มา thestandard.co