7 เรื่องที่ต้องรู้ เกี่ยวกับการลาออก

1.การลาออกเป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างโดยลูกจ้าง ไม่ว่าด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรขอบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับนายจ้าง มีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานเป็นอันสิ้นสุดลง (คำพิพากษาฎีกาที่6048-6051/2546)

2.เมื่อแสดงเจตนาลาออกแล้ว จะถอนไม่ได้ ยกเว้นนายจ้างยินยอม การลาออกถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวมีผลเมื่ออีกฝ่ายคือนายจ้างและรับทราบการแสดงเจตนานั้นเมื่อแสดงเจตนาลาออกและนายจ้างได้รับทราบเจตนาดังกล่าวแล้วลูกจ้างจะถอนการแสดงเจตนาโดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1900/2542)

3.ก่อนการลาออกมีผล ลูกจ้างยังมีสถานะเป็นลูกจ้าง หากทำผิดนายจ้างเลิกจ้างได้ เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกนายจ้างอนุมัติการลาออกแล้ว แต่ในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ในใบลาออก หากลูกจ้างกระทำผิดฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง นายจ้างมีสิทธิ์ลงโทษทางวินัยและเลิกจ้างได้(คำพิพากษาฎีกาที่ 1919/2546)

4.นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนครบกำหนดในใบลาออกไม่ใช่การเลิกจ้าง ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเพราะการลาออกไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะลูกจ้างเป็นฝ่ายแสดงเจตนาขอบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน แม้นายจ้างไม่ได้แสดงเจตนาอะไรสัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อถึงวันที่ระบุให้ใบลาออกมีผล แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่ลูกจ้างประสงค์โดยลูกจ้างไม่มีความผิดก็มีผลทำให้ลูกจ้างเสียหายเพียงเท่าที่ไม่รับค่าจ้างจนถึงวันที่ลูกจ้างประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่การเลิกจ้าง(คำพิพากษาฎีกาที่ 10161/2551)

5.นายจ้างให้ลูกจ้างเขียนใบลาออกไว้ล่วงหน้าไม่มีผลใช้บังคับ การที่นายจ้างให้ลูกจ้างลงชื่อในใบลาออกที่ไม่กรอกข้อความทำขึ้นเพื่อให้นายจ้างมีสิทธิลูกจ้างออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ซึ่งเป็นสิทธิขั้นต่ำตามกฎหมาย ถือว่าทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับ

6.การลาออก ไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากนายจ้าง แต่หากลูกจ้างลาออกโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า หรือลาออกโดยไม่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบริษัท ลูกจ้างอาจจะถูกนายจ้างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ แต่นายจ้างจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการลาออกของลูกจ้างดังกล่าวนั้น นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างไร (คำพิพากษาฎีกาที่10614/2558)

7.เมื่อลูกจ้างลาออก ลูกจ้างไม่มีสิทธิ์ได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ค่าตกใจ)ไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยและไม่ได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เพราะลูกจ้างจะได้รับเงินเหล่านี้ก็ต่อเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ไม่มีความผิดเท่านั้น

 

ที่มา : คลินิกกฎหมายแรงงาน

 

เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ

8 ขั้นตอนพื้นฐานที่ HR ต้องกระทำ เมื่อพนักงานลาออก

“ขอลาออกตอนสิ้นเดือน” แต่อนุมัติให้ออกทันที ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ลูกจ้างหรือไม่ ?

HR สามารถตอบคำถามที่ทำงานใหม่ของอดีตลูกจ้างโทรมาสอบถามถึงสาเหตุการลาออกได้หรือไม่

7 เหตุผลที่พนักงานลาออก

องค์กรควรทำการสัมภาษณ์พนักงานตอนลาออกไหม ?

7 ความผิดร้ายแรง ที่ทำให้นายจ้างไล่ออกได้ทันที