สิ่งที่คุณต้องรู้ ถ้าไม่อยากขายดีจนเจ๊ง!!!
ช่วงหลังนี้เราจะเห็นว่านักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงเกิดขึ้นมามากมายพร้อมไอเดียที่พรั่งพรู ที่ทำให้เกิดเทรนด์และกระแสการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น หลายคนประสบความสำเร็จมากจนทำให้สินค้าและบริการขายดีเทน้ำเทท่า แต่ก็ไม่วายที่อยู่ๆ ธุรกิจที่สร้างขึ้นจะเจ๊งไปต่อหน้าต่อตาได้ มาดูกันว่าสิ่งที่เราต้องรู้ในการทำธุรกิจนั้นมีอะไรบ้างก่อนที่เราจะขายดีจนเจ๊ง
1. ขายดีแต่ไม่เคยมีกำไร
หลายคนทำธุรกิจแล้วอาจจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมยิ่งขายก็ยิ่งจน แม้ว่าเราจะขายสินค้าแพงกว่าราคาที่ซื้อมา แต่ไม่มีกำไรเลย เรื่องนี้นักธุรกิจมือใหม่อาจจะพบปัญหานี้เยอะ เท่าที่สังเกตมาเป็นเพราะว่า เรามักจะคิดแค่ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าจนลืมต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการ
ตัวอย่างเช่น นักธุรกิจบางคนอาจจะคำนวณว่า หากเขาขายของที่ลูกค้าสั่งทำทั้งหมด จะได้กำไร 2,000 บาท แต่เขาอาจจะลืมไปว่ามันยังมีต้นทุนส่วนอื่นๆ อีกเช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าแรงตัวเอง และค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางนั้นก็เป็นต้นทุนเช่นกัน ไปๆ มาๆ ต้นทุนอื่นๆ คำนวณออกมาที่ 3,000 บาท แบบนี้ต่อให้ขายดีแค่ไหน ก็ไม่มีกำไรแน่ๆ
เพราะฉะนั้นแล้วเราควรสนใจรายละเอียดของต้นทุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วนและนำมาพิจารณาว่าเราควรจะขายสินค้าอย่างไรให้ได้กำไร
2. รวยดีแต่ไม่มีเงินหมุนเวียน
นักธุรกิจบางคนอาจจะขายของเก่งมาก มีลูกค้าสั่งหรือใช้บริการทุกวัน แต่พอสำรวจเงินสดในกิจการแล้วกลับไม่พบเงินในกระเป๋าอย่างที่คิด อาจจะเป็นเพราะว่ามีการทำธุรกิจโดยให้มีเครดิตเทอมที่ยาวนาน และลืมไปว่าตัวเองก็มีหน้าที่จะต้องนำเงินไปชำระรายจ่ายเรื่องต่างๆ เช่น ผู้ผลิตที่เราสั่งสินค้ามาขาย ค่าแรงคนงาน เงินเดือนลูกน้อง ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ
หากเราขายของแล้วเก็บเงินไม่ได้ซักที แถมยังมีรายจ่ายจ่อคอหอยอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เท่ากับว่าเราไม่สามารถหมุนเงินให้เกิดประโยชน์ได้ และเมื่อใดก็ตามเงินสดที่มีอยู่ในมือนั้นหมดไป กลายเป็นว่าอาจต้องพึ่งพาเงินกู้จากที่ต่างๆ จนทำให้ยิ่งทำธุรกิจเรายิ่งจนลง เพราะดอกเบี้ยจากการยืมเงินมาหมุนในกิจการ แถมเป็นการสร้างผลกำไรให้กับเจ้าหนี้แทนอีกต่างหาก
การบริหารกระแสเงินสดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เงินสดควรเก็บจากลูกค้าให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด รวมถึงนำไปชำระให้กับเจ้าหนี้และจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างตรงเวลา เพื่อป้องกันดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระ
3. ไม่แยกเงินส่วนตัวและเงินธุรกิจ
นักธุรกิจมือใหม่นั้นเมื่อตั้งบริษัทขึ้นมาอาจจะมีความเข้าใจผิดหรือแยกไม่ออกในเรื่องเงินบริษัทและเงินส่วนตัว เมื่อขายของได้ก็นำเงินไปจับจ่ายใช้สอย เพราะคิดว่าได้เงินได้กำไรมาแล้วเอาไปสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ทั้งหมด แต่กลายเป็นว่านำเงินบริษัทไปซื้อของ เที่ยวต่างประเทศ จ่ายค่าเทอมลูก และพอถึงจุดๆ หนึ่ง ก็จะพบว่าเงินทุนในกิจการนั้นหายไป และอาจจะโชคร้ายกว่านั้นเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบรายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นของบริษัท และไม่สามารถแจ้งที่มาที่ไปของเงินบริษัทที่หายไปได้
การทำธุรกิจควรจะแยกกระเป๋าเงินของกิจการออกจากเงินส่วนตัวของเรา ธุรกิจมีรายรับรายจ่ายอะไรก็ควรบันทึกเอาไว้ว่าปัจจุบันมีเงินเหลือเท่าไหร่ และควรนำเงินไปทำอะไรเพื่อให้บรรลุความสำเร็จของธุรกิจ ในส่วนของเงินส่วนตัวนั้นเราจะได้มาในฐานะลูกจ้างของกิจการ เช่น ค่าจ้างหรือเงินเดือน ควรแยกทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อวางแผนสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง ให้ใช้จ่ายตามที่มี เหลือจากเก็บออมก็นำไปลงทุนต่อเพื่อให้บรรลุความสำเร็จทางการเงินส่วนตัว
ต่อให้ขายดีแค่ไหนถ้าแยกเงินส่วนตัวออกจากเงินของกิจการไม่ออกก็ทำให้เจ๊งได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้วการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบเงินทองทั้ง 2 กระเป๋าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักธุรกิจไม่ควรพลาด
ที่มา www.scb.co.th