Q : บริษัทฯ เป็นธุรกิจขายสินค้าเป็นปกติ ซึ่งขายสินค้าบน platform ออนไลน์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทได้รับเงินมาจาก platform ซึ่งทางเขาแจ้งว่าเป็นรายได้ค่าคอมมิชชั่นที่เกิดจากการที่บริษัทแชร์ลิงค์ของ platform แล้วทำให้ผู้ซื้อมาซื้อสินค้าบน platform ผ่านลิงค์นั้น ทำให้บริษัทได้รับค่าคอมมิชชั่นหรือเงินรางวัลนี้ รายได้ที่บริษัทได้รับเป็นค่าคอมมิชชั่น หรือเงินรางวัลนี้จะต้องนำส่งภาษีขาย vat 7% ด้วยหรือไม่
A : กรณีบริษัทฯ ประกอบธุรกิจขายสินค้าบน platform ออนไลน์ เป็นปกติ ต่อมาบริษัทฯ ได้รับรายได้จาก platform ซึ่งแจ้งว่า เป็นรายได้ค่าคอมมิชชั่นที่เกิดจากการที่บริษัทฯ แชร์ลิงค์ของ platform แล้วทำให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าบน platform ผ่านลิงค์นั้น เช่นนี้ ค่าคอมมิชชั่น หรือเงินรางวัลที่บริษัทฯ ได้รับมาดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรายได้จากการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสีบภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) ประกอบมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่ platform และนำมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนที่ได้รับค่าคอมมิชชั่น หรือเงินรางวัลดังกล่าว
Q : กรณีบริษัทฯ ไม่ได้จด vat มีการขายสินค้าแบบปลีก ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง สามารถรวบรวมยอดขายในแต่ละวันแล้วออกใบเสร็จรับเงินเป็นรายวันเลยได้ไหม
A : กรณีบริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีการขายสินค้าแบบปลีก ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง บริษัทฯ ต้องออกใบรับให้แก่ลูกค้าตามมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 105 ในกรณีต่อไปนี้ ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคา ในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
(1) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
(2) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนด ตาม (1) หรือ (2) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) ประกอบ)
มาตรา 105 ทวิ ในการออกใบรับ ให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (1) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (2) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระ ทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ และเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ
ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง ไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
(4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ
(5) จำนวนเงินที่รับ
(6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายส่ง ขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้น ให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือรับชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
(ดู กฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) ประกอบ)
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) เรื่อง กำหนดจำนวนเงินหรือราคาที่ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อผู้รับเงินหรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดจำนวนเงินหรือราคาที่ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงินหรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับ ดังต่อไปนี้
“ข้อ 1 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ต้องออกใบรับในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
(1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยตามมาตรา 86/8 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกิน 1,000 บาท
(2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระ แต่ละครั้งเกิน 500 บาท
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่เข้ากรณีตาม (1) และ (2) และผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งได้รับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรือจากการกระทำกิจการ รวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกิน 100 บาท
(4) ผู้ประกอบการซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 และมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรือจากการกระทำกิจการ รวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกิน 100 บาท
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป”
กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม (ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ได้รับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ หรือจากการกระทำกิจการ รวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้ง “ไม่เกิน 100 บาท” บริษัทฯ ได้สิทธิไม่ต้องออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร เช่นนี้ บริษัทฯ ย่อมสามารถรวบรวมยอดขายในแต่ละวัน ที่ไม่ได้ออกใบรับดังกล่าว แล้วออกใบเสร็จรับเงินเป็นรายวันในแต่ละวันได้
ที่มา Facebook อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์