การวิเคราะห์การเงิน( Financial Analysis) มีเทคนิคในการวิเคราะห์ 4 แบบคือ
เทคนิคที่ 1 การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis)หรือบางครั้งก็เรียก Comparative analysis เป็นการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบปีต่อปี เดือนต่อเดือนนั่นเอง ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวนอนคือ
- เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายการต่างๆในงบโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้
- เพื่อวิเคราะห์รายการต่างๆในงบว่ามีรายการใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงในจำนวนเงินและเปอร์เซ็นต์เท่าใด
- เพื่อดูแนวโน้มแต่ละรายการในงบว่าดีขึ้นหรือแย่ละ
- เพื่อนำมาพยากรณ์ทางธุรกิจ
เทคนิคที่ 2 การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis)มีอีกชื่อว่า Common-size Analysis จะวิเคราะห์แบบแนวนอน โดยใช้งบปีใครก็ปีมันแล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบปีต่อปี เช่น ต้นทุนการผลิตของปี 2557 เท่ากับร้อยละ 45 ของยอดขายปี 2557 และต้นทุนการผลิตปี 58 เท่ากับร้อยละ 43 ของยอดขายปี 58 เราก็พอสรุปได้ว่าต้นทุนผลิตปี 58 ต่ำลงกว่าปี 57 เป็นร้อยละ 2 ต่อยอดขาย แล้วเราค่อยมาหาสาเหตุเพื่อนำมาต่อยอดในการลดต้นทุนต่อไปได้ ในงบกำไรขาดทุน เราจะใช้ยอดขายเป็นตัวหารโดยให้รายการอื่นๆเป็นสัดส่วนต่อยอดขาย สำหรับงบดุลเราจะสินทรัพย์เป็นตัวหาร ประโยชน์ของการวิเคราะห์แนวดิ่งคือ
- ใช้ในการเปรียบเทียบสัดส่วนต่อยอดขายหรือสัดส่วนต่อสินทรัพย์ของแต่ละรายการในงบกำไรขาดทุนหรืองบดุล การวิเคราะห์นี้ทำให้เราทราบว่ารายการใดมีสัดส่วนมากหรือน้อยแค่ไหน เช่นค่าใช้จ่ายเงินเดือนเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดขายเมื่อเรานำไปเทียบกับคู่แข่งขันที่จ่ายเงินเดือนเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายทำให้เราทราบว่าเรามีค่าใช้จ่ายรายการนี้สูงกว่าคู่แข่งขันมาก
- เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ทันท่วงที
- เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละปีและแต่ละรายการในงบได้
เทคนิคที่ 3 การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis)เป็นการวิเคราะห์คล้ายแบบแนวนอน แต่ไม่ได้เปรียบเทียบปีต่อปี จะเป็นปีแรกที่วิเคราะห์เป็นปีฐาน เช่น เราจะวิเคราะห์ 5 ปี โดยเริ่มจากปี 2554-2558 เราก็จะใช้ตัวเลขของปี 2554 เป็นปีฐานคือเป็นปีที่นำมาลบและนำมาหารกับปีถัดไปนั่นเองเพื่อดูแนวโน้มว่าตั้งแต่ปี 2554 รายการใดมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง มักนิยมทำเป็นรูปแบบเปอร์เซนต์มากกว่าตัวเลข แต่นักวิเคราะห์การเงินบางคนก็ทำทั้งสองรูปแบบคือตัวเงินและเปอร์เซ็นต์ ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวโน้มคือ
- ใช้ดูแนวโน้มของกิจการว่ายอดขายดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีฐาน และดูรายการอื่นๆที่สำคัญเช่นกำไรหรือสินทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือไม่
- เพื่อนำไปพยากรณ์หรือจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุนในอนาคตเพราะเราทราบถึงแนวโน้มของแต่ละรายการแล้ว
เทคนิคที่ 4 การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis)เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายการในงบการเงินเดียวกันและนำผลไปเปรียบเทียบกับปีอื่นๆด้วย รวมทั้งยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของคู่แข่งขันหรือบริษัทใหญ่ๆที่เราต้องการจะเปรียบเทียบก็ได้ การวิเคราะห์ในแบบอัตราส่วนนี้นักวิเคราะห์การเงิน เจ้าหน้าที่สินเชื่อและนักลงทุนนิยมจัดทำเพื่อใช้ดูสถานะความแข็งแรงของกิจการนั้น ดูความสามารถของผู้บริหารว่าดำเนินธุรกิจดีหรือไม่และดูฐานะของกิจการว่ามั่นคงไหม บางคนเรียกการวิเคราะห์แบบนี้ว่าเป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของกิจการ การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนนี้จะทำให้ผู้บริหารและนักวิเคราะห์ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของกิจการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีการวัดอัตราส่วนทางการเงินเป็น 4 ด้านดังนี้
- วัดสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity ratio)
- วัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio)
- วัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ (Asset management ratio)
- วัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt management ratio หรือ Leverage ratio)
เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินทั้งสี่แบบทำให้เราทราบถึงรายละเอียดของกิจการมากขึ้นนอกเหนือจากการอ่านงบการเงินเพียงอย่างเดียว สำหรับนักวิเคราะห์และผู้บริหารระดับสูงของกิจการนิยมใช้พร้อมกันทั้งสี่เทคนิคในการวิเคราะห์การเงิน ซึ่ง BSC จะอธิบายการจัดทำการวิเคราะห์ในบทถัดไปเพื่อให้ง่ายและสะดวกในการวิเคราะห์ของคุณ โดยจัดทำเป็นรูปแบบ spread sheet ให้ผู้สนใจนำไปฝึกใช้ได้ และเพื่อประโยชน์ให้กับเจ้าของกิจการในการพยากรณ์ยอดขายและจัดทำประมาณการเพื่อวางแผนกิจการต่อไปได้
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
การจัดทำการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนี้จะถูกแบ่งให้เป็น 4 ด้านเพื่อวัดความสามารถในแต่ละด้านของกิจการเอง และยกตัวอย่างกรณีศึกษาโดยนำอัตราส่วนทางการเงินของโฮมโปรและโกลบอล มาเปรียบเทียบ เพราะเป็นธุรกิจคล้ายกันและยังเป็นธุรกิจที่เป็นผู้นำของธุรกิจประเภทนี้รวมทั้งหาข้อมูลได้ง่ายเพราะจดทะเบียนบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย การวิเคราะห์ความสามารถของกิจการเองและวิเคราะห์เปรียบเทียบกับธุรกิจที่เป็นตัวอย่างจะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงและแก้ไขการบริหารงานที่เป็นจุดอ่อนของกิจการได้ ผู้วิเคราะห์ที่ต้องการเปรียบเทียบกับกิจการอื่นนั้นจำเป็นต้องเลือกธุรกิจที่เหมือนหรือคล้ายกันกับธุรกิจที่จะวิเคราะห์เพราะผลการวิเคราะห์จะทำให้เราปรับปรุงงานได้ดีขึ้น
ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ
การจัดทำงบกระแสเงินสดแบบง่าย
เทคนิคการบริหารเงินสดให้มีสภาพคล่อง
ตารางสรุป อัตราส่วน ทางการเงิน
สูตรสำเร็จตรวจเช็กสุขภาพการเงินธุรกิจ
6 กฎเหล็ก บริหารกระแสเงินสดให้ธุรกิจรุ่ง