ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ออกอย่างไร ลงรายงานภาษีขายอย่างไร

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ผู้ประกอบการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องเป็นกรณีของการประกอบกิจการขายปลีก และในกรณีของการให้บริการ ต้องเป็นการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก โดยกิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะดังนี้

  1. เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบชัดเจนว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและในปริมาณที่ผู้บริโภคจะนำไปใช้โดยไม่ได้นำไปขายต่อ
  2. การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร
  3. ผู้ประกอบการตามข้อ 1 และ 2 ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับที่มีรายการครบถ้วน กรณีที่ผู้ซื้อร้องขอ

สำหรับกิจการที่ไม่ตรงกับตัวอย่างที่สรรพากรให้ไว้ หากเป็นการขายให้ผู้บริโภคโดยตรงและผู้บริโภคเป็นคนใช้ ไม่ได้นำไปขายต่อ ก็สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ

การลงรายการใบกำกับภาษีอย่างย่อในรายงานภาษีขาย

กรณีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 ให้ลงรายการในรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับ และให้ลงรายการภายใน 3 วันทำการ โดยให้เป็นไปตามหลักการนี้:

  1. ไม่ต้องระบุชื่อผู้ซื้อสินค้า และรายการสินค้าต้องแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม
  2. กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าเป็นยอดรวมตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่อง "เลขที่/เล่มที่" ของใบกำกับภาษีว่า “เล่มที่... เลขที่... ถึงเลขที่...”
  3. กรณีจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อที่ไม่ได้ออกเป็นเล่ม ให้ลงรายการมูลค่าสินค้าเป็นยอดรวมตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ โดยระบุในช่อง "เลขที่/เล่มที่" ของใบกำกับภาษีว่า “เลขที่... ถึงเลขที่...”

มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ทำผิด โดยสิ้นวันจะจัดทำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบอีกฉบับเพื่อสรุปยอดขายตามใบกำกับภาษีอย่างย่อในวันนั้น แล้วนำไปลงในรายงานภาษีขาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและอาจโดนปรับ

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการกลุ่มที่เรียกว่า ผู้ประกอบการรายย่อยตามมาตรา 86/8 ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิไม่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อขายสินค้าในแต่ละครั้งไม่เกินวงเงินที่กำหนด (ไม่เกิน 1,000 บาท) เว้นแต่ผู้ซื้อเรียกร้องให้ออกใบกำกับภาษี

ประกาศ VAT ฉ.154: กำหนดผู้ประกอบการรายย่อย

ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร VAT ฉ.154 ได้กำหนดให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย:

  1. การขายสินค้าที่ผู้ประกอบการไม่เคยมีมูลค่าของฐานภาษีในเดือนใดถึง 300,000 บาท
  2. การขายสินค้าที่ผู้ประกอบการมีสถานประกอบการเป็นรถเข็น แผงลอย หรือหน่วยขายที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
  3. การให้บริการการแสดง การเล่น การกีฬา ที่จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดูหรือผู้เข้าแข่งขัน
  4. การประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะ
  5. การประกอบกิจการให้บริการทางพิเศษหรือทางหลวงสัมปทาน
  6. การประกอบกิจการให้บริการสนามบิน
  7. การประกอบกิจการให้บริการสาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการขนส่งมวลชน เช่น การให้บริการสถานที่จอดรถหรือบริการห้องสุขาแก่ประชาชนที่มาใช้บริการรถไฟฟ้า

ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายย่อยไม่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาท เว้นแต่ผู้ซื้อจะร้องขอ

ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อรวบรวมการขายที่มีมูลค่าครั้งหนึ่งไม่เกิน 1,000 บาทในหนึ่งวันทำการเพื่อเป็นเอกสารประกอบการลงรายงานภาษีขาย โดยให้ลงรายงานภาษีขายเฉพาะมูลค่าสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดต่อวันที่ได้รับซึ่งเกิดจากใบกำกับภาษีดังกล่าว

ที่มา www.atsaccounting.com