"ความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายบางอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ การทำงานไปในทิศทางเดียวกันเป็นทีม"
Teamwork คือ การทำงานร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพื่อทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยทุกคนในทีมมีเป้าหมายเดียวกัน มีการแบ่งงานอย่างเป็นระบบ ช่วยกันพัฒนาทักษะ ความสามารถซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ ทุกคนในทีมรู้สึกถึงความสำคัญของหน้าที่ตนเอง
1. หัวหน้าทีมต้องมีความเป็นผู้นำ
หัวหน้าทีมก็คงเปรียบได้กับกัปตันเรือที่จะต้องกำหนดเป้าหมายของการเดินเรือ รวมไปถึงควบคุมดูแลให้ลูกเรือซึ่งคือสมาชิกในทีม ช่วยกันนำเรือแล่นไปในทิศทางที่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากลูกเรือ กัปตันเรือจะต้องไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งการอยู่คนเดียว ต้องมี “ความเป็นผู้นำ (Leadership)”
2. ความร่วมมือกันของสมาชิกในทีม
ในการทำงานสมาชิกในทีมต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เข้าอกเข้าใจ รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มความสามารถ เคารพกฎกติกาที่ตั้งไว้ด้วยกัน และเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างของสมาชิกในทีม
3. กำหนดเป้าหมายและกฎการทำงานร่วมกัน
กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนให้ทุกคนในทีมทราบ เป็นหัวใจหลักของการทำงานร่วมกัน ถ้าทุกคนในทีมเข้าใจเป้าหมายตรงกัน จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่นำไปสู่เป้าหมาย โดยการกำหนดเป้าหมายที่ดีอาจใช้หลักอย่าง SMART Goal คือ เป้าหมายต้องมีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้ชัดเจน ทำได้จริง สมเหตุสมผล และมีการกำหนดเวลา นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว
4. แลกเปลี่ยนข้อมูลภายในทีมอย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลบริษัท ข้อมูลการขาย ข้อมูลลูกค้า ควรจัดเก็บไว้ในที่ ๆ สมาชิกในทีมสามารถเข้าถึงร่วมกันได้ง่าย จะทำให้สมาชิกในทีมสามารถทำงานแทนกันได้ หากเกิดเหตุการณ์จำเป็น ช่วยให้ทีมทำงานไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไม่สะดุด ง่ายต่อการบริหารจัดการทีม
5. จัดโครงสร้างและระบบการทำงานที่ชัดเจน
การวางโครงสร้าง รวมถึงขอบเขตหน้าที่การทำงานของสมาชิกแต่ละคนภายในทีมเป็นเรื่องที่สำคัญ สมาชิกในทีมจะต้องเข้าใจหน้าที่ของตนเองและเข้าใจหน้าที่ของคนอื่นด้วย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีระบบ มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่าย
6. เพิ่มศักยภาพของคนในทีม
เป็นเรื่องที่สำคัญที่หัวหน้าทีมจะต้องรู้จักสมาชิกในทีมอย่างลึกซึ้ง รู้จักและเข้าใจจุดแข็ง และจุดด้อยของสมาชิกแต่ละคนเพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการพัฒนาความสามารถของสมาชิกภายในทีม หัวหน้าทีมจะต้องสวมบทบาทเป็นโค้ช ช่วยมอบความรู้ให้สมาชิก ทำหน้าที่ช่วยพัฒนา กําจัดจุดอ่อน และสร้างเสริมจุดแข็งให้กับสมาชิก เพื่อให้ทีมมีศักยภาพมากขึ้น เกิดเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน หรือเรียกว่า Team Building
7. มีการประเมินผลงาน
ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทีม จะทำให้เราทราบว่าตัวเราเองทำงานเป็นอย่างไร จุดแข็ง จุดอ่อนเป็นอย่างไร ควรปรับปรุงจุดไหนบ้าง ภาพรวมทีมเป็นอย่างไร จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้หรือไม่ อีกทั้งผลการประเมินยังทำให้หัวหน้าทีมสามารถนำไปปรับปรุงโครงสร้างและระบบการทำงานของทีม อาจมีการปรับเปลี่ยน โดยมอบหมายงานให้ตรงกับความสามารถของคนในทีมมากขึ้น และหากทีมทำงานดี ผลการประเมินที่ดีจะช่วยสร้างแรงจูงใจ ความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิก ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองและทีมให้ประสบความสำเร็จมากขึ้นต่อไป
ที่มา readyplanet