LGBTQ+ ในที่ทำงาน

LGBTQ+ 

คือ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษแต่ละตัว เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศแบบหนึ่ง

โดยย่อมาจาก

  • L – Lesbian (เลสเบี้ยน): ผู้หญิงที่รักผู้หญิง

  • G – Gay (เกย์): ผู้ชายที่รักผู้ชาย

  • B – Bisexual (ไบเซ็กชวล): ชายหรือหญิงที่มีความรักกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้ามก็ได้

  • T – Transgender (ทรานส์เจนเดอร์): ผู้ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตน ไปเป็นเพศตรงข้าม

  • Q – Queer (เควียร์): คนที่ไม่จำกัดตนเองเป็นเพศใด ๆ และไม่เกี่ยวกับเพศสภาพ

 

          มนุษย์ควรได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนล้วนมีความสามารถและคุณค่าในตัวเอง ควรได้รับโอกาสและการสนับสนุน ให้ได้ใช้และพัฒนาศักยภาพ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ในปัจจุบัน LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากขึ้น ออฟฟิศต่างๆก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อรองรับชาว LGBTQ+ มากขึ้น 

 

1. การสมัครงานที่มีการจำกัดเพศ

ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มระบุรายละเอียดใน Job Description อย่างละเอียดไว้เลยว่า เปิดรับผู้สมัครทุกเพศ หรือบางที่ก็ระบุแบบชัดเจนไปอีกขั้นเลยว่า ยินดีต้อนรับผู้สมัครชาว LGBTQ+ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่เราเริ่มได้การเปลี่ยนแปลงดีๆ เกิดขึ้นแล้ว

 

2. การไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

ชาว LGBTQ+ หลายคน ไม่กล้าแสดงออกและปิดบังตัวตนที่แท้จริง ก็อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกไม่สบายใจ ที่อาจถูกตัดสินจากคนรอบข้าง ซึ่งบางครั้งการปิดบังตัวตน อาจมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่องานหรือทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงได้เช่นกัน เผลอๆ อาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย ทำให้เกิดความเครียดสะสม 

 

3. รู้สึกไม่เข้าพวก

หลายครั้งที่ ชาว LGBTQ+ ที่มีความสามารถอย่างเต็มเปี่ยม แต่ต้องลาออกไป เพียงเพราะปัญหา เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่ไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกัน หรือเจอคนที่ไม่ยอมรับและไม่เข้าใจกลุ่มชาว LGBTQ+ อาจทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เข้าพวก และไม่มีคนที่เข้าใจพวกเขาได้

ชาว LGBTQ+ ที่มักจะถูกสังคมตัดสิน ต่างก็ยิ่งอยากได้รับความเข้าใจจากคนรอบข้างมากขึ้น หากโชคดีได้เจอหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งนี้ก็จะช่วยปลดล็อคให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น และทำให้พวกเขามีความสุขในการทำงานมากขึ้น

 

4. ปัญหาต่อการเลื่อนตำแหน่งและความก้าวหน้าทางอาชีพ

ทุกคนก็อยากเติบโตก้าวหน้าในสายอาชีพของตัวเอง ซึ่งหลายครั้งการตัดสินให้ถูกเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่ได้ถูกพิจารณาจากความสามารถและผลงานอย่างเดียว แต่มักมีเรื่องของอคติต่อบุคคลเข้ามาปนอยู่ด้วยเสมอ

ชาว LGBTQ+ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ไม่แพ้กลุ่มคนทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้ามีหัวหน้าหรือผู้ประเมินที่ไม่เข้าใจ ก็อาจถูกสกัดไม่เติบโตในหน้าที่การงานได้

 

5. การถูกเลือกปฏิบัติจากลูกค้า

ลูกค้าบางคนเมื่อทราบว่าคนดูแลโปรเจคต์เป็นชาว LGBTQ+ ก็ตรงดิ่งไปแจ้งกับบริษัทว่าขอเปลี่ยนคนดูแลโปรเจคต์แทน แน่นอนว่าทุกธุรกิจมักมีเรื่องของลูกค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ต้องรับมือ

 

6. คำพูดและเสียงนินทาจากคนรอบข้าง

ชาว LGBTQ+ มักต้องเจอคำนินทาจากคนรอบข้าง ไม่เฉพาะแม้แต่เรื่องงาน บางคนอาจเจอการถูกเรียกสรรพนามที่ไม่ดี ไปจนถึงการดูถูกหรือเหยียดหยาม การถูกแซวเล่นจากคนที่ไม่สนิท บางครั้งคนเหล่านั้นอาจไม่ได้คิดมากอะไร แต่กลับไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการทำร้ายจิตใจก้าวไปสู่เรื่องราวของการบุลลี่ได้

 

7. สวัสดิการที่ทำให้พวกเขารู้สึกเข้าถึงยาก

บางครั้งสวัสดิการที่เกิดขึ้นกลับรองรับแค่ผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงชาว LGBTQ+ 

 

สิ่งที่ควรปรับใช้ในองค์กรต้อนรับชาว LGBTQ+

  • ไม่ก้าวก่ายและให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
  • รณรงค์ให้เกิดการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม
  • ไม่ควรคุยเล่นให้เรื่องที่ไม่ควรคุย จนก่อให้เกิดการบุลลี่
  • กล่าวถึงพนักงาน LGBTQ+ ให้เป็นเหมือนพนักงานคนอื่นๆ
  • จัดอบรมและทำความเข้าใจกับพนักงานคนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมพนักงาน LGBTQ+
  • จัดตั้งชมรมหรือเครือข่าย เพื่อสนับสนุนพนักงาน LGBTQ+
  • จ้างพนักงานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กลุ่ม LGBTQ+, พนักงานที่มีความทุพพลภาพ เป็นต้น
  • มีสวัสดิการที่ครอบคลุมถึงพนักงาน LGBTQ+ เช่น การลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ ,การลาแต่งงานได้เหมือนคู่ชาย-หญิง

 

ที่มา JobsDB