HR ควรรู้ ... สาเหตุที่พนักงานลาออก จากงานที่ทำอยู่

"ความเบื่อหน่ายกับงานที่ทำอยู่ และต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ที่ท้าทายความสามารถมากกว่า"  เป้นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้พนักงานลาออก

          หากมีอัตราการเข้าออกของพนักงานที่มากหรือมีความถี่มากเกินไป ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ และไม่ส่งผลดีต่อองค์กร ทำให้การดำเนินงานขององค์กรมีความติดขัด แล้ว HR รู้หรือไม่ สาเหตุที่พนักงานลาออกนั้นมีอะไรบ้าง 

 

1. Work Life Balance

งานบางอย่างอาจจะทำให้ Work Life Balance นั้นเสียสมดุลไป เช่น งานที่ต้องเดินทางตลอดเวลา งานที่ต้องทำเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเจอครอบครัว เพื่อนฝูงได้เหมือนปกติทั่วไป เพราะเวลาไม่ตรงกัน คนส่วนใหญ่จึงเลือกไปทำงานที่ทำให้ชีวิตพวกเขามีสมดุลที่ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้พวกเขามีเวลาให้กับครอบครัว และคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น

 

2. ความก้าวหน้าในองค์กร 

คนที่ทำงานดี ทำงานเก่ง ทุ่มเทในการทำงาน ย่อมมีความคาดหวังในความก้าวหน้า ในสายอาชีพของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนตำแหน่ง การปรับขึ้นเงินเดือน โบนัสประจำปี และอื่น ๆ  หากพวกเขาจะไม่ได้สิ่งตอบแทนความทุ่มเทที่พวกเขามีให้แก่บริษัท ก็ย่อมเลือกที่จะไปทุ่มเทที่องค์กรอื่น ที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากกว่า

 

3. ภาระหน้าที่ในองค์กร

หน้าที่และปริมาณงานของพนักงาน ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออก เมื่อเห็นว่าพนักงานมีความสามารถ จึงไว้ใจและมอบหมายงานให้ทำมากมาย จนทำให้ปริมาณงานที่ล้นมือ ทำไม่ทัน ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และเบื่อหน่ายกับการทำงาน ที่มีปริมาณมากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อ Work Life Balance 

ในขณะที่ พนักงานที่ทำงานไม่ดีมาก แต่อยู่ในระดับที่ทำงานได้ กลับได้รับความไว้วางใจน้อยกว่า ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่มีคุณค่าต่อองค์กร เพราะเจ้านายไม่ค่อยมอบหมายงาน และตัดสินใจลาออกได้เช่นกัน

 

4. เพราะสภาพแวดล้อม

สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน และสภาพแวด้อมจริงๆ มีผลต่อการทำงานของพนักงานเป็นอย่างมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ในการตัดสินใจลาออกของพนักงานเลยกว่าได้ ปัญหาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อความสุขในการทำงานของพนักงานโดยตรง และหากพนักงานมีความเครียดมาก ก็สามารถตัดสินใจลาออกได้เลย

 

5. สวัสดิการของพนักงาน 

องค์กรที่ดี มักจะมีสวัสดิการที่ดีให้แก่พนักงาน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ทำให้พนักงานอยู่ในองค์กรได้อย่างยืนยาว องค์กรใดที่ไม่มีสวัสดิการเหล่านี้ ก็อาจจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิต รู้สึกว่าองค์กรไม่มีความใส่ใจแก่พนักงาน และตัดสินใจลาออก

 

6. ผลตอบแทนอื่น ๆ 

ในการทำงาน นอกจากเงินเดือน ซึ่งเป็นผลตอบแทนหลัก ๆ แล้ว ก็ยังมีผลตอบแทนที่พนักงานควรจะได้แอบแฝงอยู่ด้วย มีการเพิ่มงานให้กับพนักงาน ซึ่งไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ตอนที่สัมภาษณ์งาน และไม่มีการเพิ่มเงินเดือนให้ หรือไม่มีเงินพิเศษอื่น ๆ ให้ นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกว่า งานมีปริมาณงานที่มากเกินไปแล้ว ยังอาจจะทำให้พนักงานรู้สึกไม่เป็นธรรม ไม่อยากทำงานที่เพิ่มเข้ามาเหล่านี้ รู้สึกว่าบริษัทใช้งานเกินคุ้ม จึงเลือกที่จะลาออกจากองค์กรไป

 

7. ได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัด

พนักงานบางคน ต้องทำงานที่ตนเองไม่ถนัด อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น เรียบจบอย่างหนึ่ง แต่ได้งานอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้พนักงานมีความเครียด และกดดันในการทำงานได้ เพราะพนักงานไม่มีความมั่นใจว่าตนเอง จะสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ เนื่องจากไม่มีความรู้ และตัดสินใจลาออกเพื่อไปทำงานที่ตรงสายกับที่เรียบจบมา หรืองานที่ตนถนัดมากกว่า

 

8. ลาออกเพราะเข้ากับเจ้านายหรือลูกน้องไม่ได้

สาเหตุนี้ มักจะเกิดกับพนักงานที่เข้าไปทำงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเจ้านาย หรือตำแหน่งลูกน้อง หากเป็นเจ้านายใหม่ อยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับทีมงาน ซึ่งทีมงานเดิมที่มีอยู่ ให้ความเคารพนับถือเจ้านายคนเก่าที่ลาออกไปมากกว่า ทำให้เกิดการตั้งแง่ ยิ่งหากเจ้านายใหม่เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา ทีมงานอาจจะลองภูมิตลอดเวลา ไม่ให้เกียรติผู้ที่เป็นเจ้านายใหม่ และไม่ให้ความร่วมมือในการทำงาน และทำให้เป็นการยากที่จะทำงานร่วมกันได้ ทำให้ต้องตัดสินใจลาออก

หรือในกรณีที่เป็นลูกน้องใหม่ เมื่อเข้าไปทำงาน แล้วต้องเจอกับเจ้านายที่ไม่ดี ไม่เป็นธรรม เข้ากันไม่ได้ ไม่ใส่ใจสอนงาน หรือที่แย่มากกว่าก็อาจจะเจอหัวหน้าที่ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ ชอบโยนความผิดให้ลูกน้อง เอาความดีเข้าตัวอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ช่วยเหลืองานลูกน้องยามที่ลูกน้องมีปัญหา จึงทำให้ลูกน้องตัดสินใจลาออกไป

 

ที่มา moneyguru