How to คำนวณค่าชดเชย... ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน

การคำนวณค่าชดเชย กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

          เมื่อมีการเลิกจ้างหลายคนไม่รู้ว่ามีสิทธิได้ค่าชดเชยทั้งรูปแบบการทำงานที่คำนวณโดยอาศัยฐานค่าจ้างที่เป็นเงินเดือนด้วย และนายจ้างต้องคำนวณจากการจ่ายค่าจ้างตามผลงานอีกด้วย

เช่น ลูกจ้างทำงานมา 12 ปี หลักกฎหมาย มาตรา 118 (5) บัญญัติถ้อยคำว่า

"ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ ...ไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย"

จากตัวกฎหมายจะเห็นว่า

          ก) ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน หรือทำงานรายวัน หรือรายชื่อโมง ที่เหมาจ่าย "ตามเวลา" ที่ทำงาน การคำนวณค่าชดเชยตามตัวอย่างนี้

  • หากเป็นค่าจ้างรายวันอยู่แล้วก็คูณ300 ซึ่งเป็นอัตราค่าชดเชยได้เลย ก็จะได้เป็นค่าชดเชยออกมา
  • แต่ถ้าเป็นลูกจ้างที่รับเงินเดือนต้องเอาเงินเดือนมาหาร 30 ก่อน (มาตรา 68 ให้หาร 30) ก็จะได้เป็นค่าจ้างรายวันออกมา จากนั้นก็คูณ 300 อันเป็นอัตราการจ่ายค่าชดเชย

 

        ข) ลูกจ้างที่รับค่าจ้างโดยคำนวณเป็นหน่วย กฎหมายให้ดูว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายได้กี่บาท จากตัวอย่างนี้ทำงาน 12 ปีตามมาตรา 118(5) ให้ค่าชดเชย 300 วัน ก็ต้องนับย้อนขึ้นไปว่าก่อนออกจากงาน 300 วันได้ค่าจ้างกี่บาทก็จะเป็นค่าชดเชย

เช่น ลูกจ้างได้รับค่าตอบแทนจากการขายสินค้า 10% จากยอดขาย หรือถ้าเย็บผ้าก็จะได้ค่าจ้างตัวละ 10 บาท หรือประกอบคอมพิวเตอร์ได้เครื่องละ 100 บาท เช่นนี้ ถือว่าเป็นลูกจ้างตามผลงาน ถ้าลูกจ้างทำงาน 112 ปี จะได้ค่าชดเชย 300 วัน หรือค่าตอบแทน 10 เดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้าง

เช่น เลิกจ้างเดือนพฤศจิกายน ก็ต้องตรวจสอบย้อนกลับไป 10 เดือนว่าแต่ละเดือนได้เงินกี่บาท หากเป็นค่าตอบแทน 10% เมื่อย้อนคำนวณค่าชดเชย 300 วัน คือประมาณ 10 เดือนก็จะได้ดังนี้

  • เดือนที่ 10 ตุลาคมได้ 50,000 บาท
  • เดือนที่ 9 กันยายนได้ 30,000 บาท
  • เดือนที่ 8 มิถุนายนได้ 70,000 บาท
  • เดือนที่ 7 กรกฎาคมได้ 55,000 บาท
  • เดือนที่ 6 มิถุนายนได้ 70,000 บาท
  • เดือนที่ 5 พฤษภาคมได้ 5,000 บาท
  • เดือนที่ 4 เมษายนได้ 1,000 บาท
  • เดือนที่ 3 มีนาคมได้ 69,000 บาท
  • เดือนที่ 2 กุมพาพันธ์ได้ 70,000 บาท
  • เดือนที่ 1 มกราคมได้ 90,000 บาท

ค่าชดเชยจึงต้องนำเอาเงินทั้ง 10 เดือนมารวมจะได้ 510,000 บาท และนี่คือค่าชดเชย 300 วัน

ข้อสังเกต ถ้าหากมีการคำนวณค่าตอบแทนจ่ายทุกวัน เช่นค่าประกอบคอมพิวเตอร์เครื่องละ 100 บาท ซึ่งเงินที่ได้อาจไม่เท่ากันทุกวัน เช่น บางวันประกอบได้ 5 เครื่อง 500 บาท บางวันได้ 600  บาท ก็อาจนับย้อนหลังย้อนลงไป 300 วันก็ได้ โดยนับเฉพาะวันที่ทำงาน วันใหนไม่มาก็ไม่มีเงินให้นับได้

 

          ค) ลูกจ้างที่รับค่าจ้างแบบผสม คือได้ทั้ง "เงินเดือน" "รายวัน " และ "ค่าตอบแทนตามผลงาน"

เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัทสินเชื่อ ทำหน้าที่พิมพ์และเรียงฟ้องได้เงินเดือน ๆ ละ 22,000 บาท และได้ค่าตอบแทนตามผลงานจากการเรียงฟ้องสำนวนละ 50 บาท และได้เบี้ยเลี้ยงทุกวัน ๆ ละ 210บาท หากลูกจ้างทำงาน 12 ปี แล้วถูกเลิกจ้าง จะได้ค่าชดเชยกี่บาท

ลูกจ้างประเภทนี้เรียกว่าได้ค่าชดเชยหลายประเภทเพราะได้รับทั้งเงินเดือน ทั้งค่าจ้างรายวัน ทั้งค่าจ้างตามผลงาน ซึ่งวิธีคำนวณค่าชดเชย ดังนี้

  1. เงินเดือน จะต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วันสุดท้าย ก็ต้องคำนวนว่าค่าจ้าง "สุดท้าย" กี่บาท ด้วยการเอาเงินเดือน 22,000 หาร 30 ได้วันละ 733.33 บาท เอาไปคูณอัตราค่าชดเชย 300 วัน จะได้อัตราค่าชดเชย 220,000 บาท
  2. รายวัน ซึ่งได้ในรูปเบี้ยเลี้ยงซึ่งจ่ายรายวัน กรณีนี้ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วย จึงต้องนำมาคำนวณอัตราค่าชดเชยด้วย เมื่อได้วันละ 210 บาท ทำงาน 12 ปีได้ค่าชดเชย 300 วัน จึงต้องเอา 210 บาทมาคูณ 300 วัน จะได้ค่าชดเชย 63,000 บาท
  3. ค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย จากตัวอย่างการที่ลูกจ้างได้ค่าตอบแทนจากการพิมพ์ฟ้องและเรียงสำนวนละ 50 บาท ซึ่งแต่ละวันอาจได้ไม่เท่ากัน มีปัญหาว่าค่าจ้าง "สุดท้าย" ก่อนเลิกจ้าง 300 วันไม่เท่ากัน เช่นนี้ กฎหมายจึงให้นับย้อนกลับลงไป 300 วันว่าได้ค่าจ้างตามผลงานกี่บาท จากนั้นนำเอาจำนวนเงินทั้งหมดมารวมกัน ก็จะได้เป็นค่าชดเชย ในทางปฎิบัตินายจ้างก็มักจะนำผลรวมแต่ละเดือนมารวมกันตามตัวอย่างค่าตอบแทนจากการขายข้างต้น ได้เท่าใหร่ก็จะได้เป็นค่าชดเชย หากลูกจ้างได้วันละ 200 บาท จำนวน 200 วัน เป็นเงิน 40,000 บาท และได้วันละ 300 บาทอีกจำนวน 100 วันเป็นเงิน 30,000 บาท รวม 300 วัน เป็นเงิน 70,000 บาท ก็จะเป็นค่าเชยสำหรับค่าจ้างตามผลงานที่คำนวณเป็นหน่วย

ซึ่งต้องนำเอาค่าชดเชยทั้ง 3 กรณีมารวมกัน คือ 220,000 + 63,000+70,000 ก็จะได้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างควรได้รับ คือ 353,000 บาท

ข้อสังเกต ลูกจ้างที่ทำงานตามผลงานก่อนการเลิกจ้างอาจต้องมีความขยันมากเป็นพิเศษเพื่อส่งผลต่อค่าชดเชย ซึ่งหากเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาก็ดี หรือนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าก็ดี หรือการเกษียณ ถือเป็นการเลิกจ้างก็ดี ลูกจ้างจะรู้ตัวก่อนถูกเลิกจ้าง ดังนั้น ลูกจ้างหากได้รับค่าจ้างโดยคำนวณเป็นหน่วยอาจต้องมีความขยันมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะช่วงก่อนเลิกจ้าง

มีปัญหาน่าคิดว่าหากก่อนการเลิกจ้างลูกจ้างทำงานมา 9 ปี 11 เดือนครึ่ง ในเดือนถัดมา 1 เดือนเต็มก่อนการเลิกจ้าง ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน คือทำผลงานไม่ได้ มีปัญหาว่าจะต้องนำเอาระยะเวลา 1 เดือนที่ไม่สามารถทำผลงานได้มารวมกับ 9 ปี 11 เดือนหรือไม่ ถ้ารวมก็จะมีระยะเวลาทำงาน 10 ปีกับอีกครึ่งเดือน มีสิทธิได้ค่าชดเชย 300 วัน แต่ถ้าไม่รวมจะได้ค่าชดเชย 240 วัน

ต้องเข้าใจว่าการไม่ได้ค่าจ้างตามผลงาน กับระยะเวลาการทำงานเป็นคนละเรื่องกัน จากตัวอย่างนี้แม้ลูกจ้างไม่ได้ค่าจ้างตามผลงานแต่ก็ยังทำงานอยู่ สัญญาจ้างไม่ได้สิ้นสุด ซึ่งคำพิพากษาฎีกาที่ 4630-4673/2559 พิพากษาว่าแม้เดือนสุดท้ายของการทำงานลูกจ้างจะไม่ได้ทำงานอันได้รับค่าตอบแทนตามผลงานก็ต้องนำเอาระยะเวลาและผลงานของเดือนดังกล่าวมานับรวมคิดคำนวณเป็นเวลาการทำงานสุดท้ายด้วย

 

ที่มา  กฎหมายแรงงาน