ภาวะเสพติดงานยุ่ง หรือ Addiction to Being Busy เป็นภาวะที่บุคคลรู้สึกว่าต้องมีอะไรทำตลอดเวลา ไม่สามารถหยุดพักหรือใช้เวลาในการพักผ่อนได้ โดยมักจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกว่าเราต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นที่ยอมรับในสังคม หรือต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกาย
ผลกระทบภาวะนี้สามารถทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจเกิดความเครียดสะสม วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าได้ รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การไม่มีเวลาให้กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง อาจทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมเสีย นอกจากนี้ยังสามารถทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เนื่องจากขาดการพักผ่อนและการใช้เวลาทำสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ ร่างกายอ่อนล้า และเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดหัว นอนไม่หลับ หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ
ลักษณะของภาวะเสพติดงานยุ่ง
- กลัวพลาดหรือกลัวงานช้า ความกังวลว่าหากหยุดทำงานแม้เพียงเล็กน้อย อาจพลาดโอกาสหรือทำให้งานล่าช้า จึงทำให้ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง
- หลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ การทำงานยุ่งเป็นวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงอารมณ์ด้านลบ เช่น ความเครียด ความเศร้า หรือความวิตกกังวล การมุ่งมั่นอยู่กับงานทำให้ไม่ต้องเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้
- มุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จที่เกินพอดี มีความคาดหวังสูงต่อความสำเร็จ ซึ่งอาจมากเกินกว่าที่ควร ทำให้ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
- "งานยุ่ง" เป็นสถานะทางสังคม การมีงานยุ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในสายตาของตนเองหรือผู้อื่น ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่าเมื่ออยู่ในสภาวะงานยุ่ง
- รู้สึกผิดเมื่อว่าง เมื่อไม่มีงานทำ หรือไม่ได้ทำงานรู้สึกผิดและไม่สบายใจ เพราะคิดว่าตนเองควรทำงานตลอดเวลา
- ไม่รู้จักผ่อนคลาย ไม่ปล่อยวาง ไม่สามารถผ่อนคลายหรือปล่อยวางจากงานได้ แม้ในเวลาที่ควรพักผ่อน
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดงานยุ่ง
- ความกดดันจากสังคมและองค์กร ความคาดหวังที่ต้องทำงานให้ได้ผลลัพธ์สูงสุด มักจะทำให้บุคคลรู้สึกว่าต้องทำงานอยู่เสมอ
- ความกลัวความว่างเปล่า:หลายคนไม่รู้สึกสบายใจเมื่อไม่มีงานทำ เนื่องจากกลัวความว่างเปล่าหรือความไม่มีคุณค่า
- การหนีจากปัญหาชีวิต งานยุ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้บางคนสามารถหนีจากปัญหาชีวิตหรือความเครียดได้
การตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลตนเอง และการหาวิธีจัดการกับภาวะเสพติดงานยุ่ง สามารถช่วยให้คุณมีชีวิตที่สมดุลและมีความสุขมากขึ้น
- ตั้งขอบเขตในการทำงาน จำกัดเวลาทำงานและให้ความสำคัญกับเวลาพักผ่อน
- เผชิญกับอารมณ์ด้านลบ เรียนรู้ที่จะยอมรับและจัดการกับอารมณ์ด้านลบ แทนที่จะหลีกเลี่ยงมัน
- ฝึกการทำสมาธิและการผ่อนคลาย การฝึกสมาธิหรือทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ อ่านหนังสือ หรือการเดินเล่น
- ทบทวนคุณค่าในชีวิต ทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิตจริง ๆ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับงานจนเกินไป
- สร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว ให้เวลาในการพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อสร้างความสุขและความสมดุลในชีวิต
- ลดความคาดหวังที่เกินพอดี ทบทวนเป้าหมายและความคาดหวังของตนเองให้เหมาะสม และยอมรับว่าความสำเร็จไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบเสมอไป
- หากิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน ใช้เวลาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายและไม่มีความเกี่ยวข้องกับงาน เพื่อฝึกการปล่อยวาง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ