เทรนด์การทำงานในปี 2022 จะเปลี่ยนไป

การทำงานในปี 2022 จะเป็นเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนโฉมหน้าการทำงานแบบเดิม ๆ ไปไม่น้อย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน

 

1. การทำงานแบบผสมผสาน ทั้งจากบ้านและที่ทำงาน

ในช่วงของการล็อกดาวน์  Work from Home ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ พรีเซนต์งานผ่านซูม ตรวจสอบความก้าวหน้าของงานผ่านทางแอปพลิเคชันสำหรับจัดการและมอบหมายงาน หรือแม้แต่การปรับงานเอกสารให้ง่ายขึ้นผ่านทาง Google Doc ที่นิยมใช้กันเป็นอย่างมาก

ทำให้พนักงานหลายตำแหน่งเริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานก็สามารถทำงานให้สำเร็จได้จากการทำงานที่บ้าน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่ดีจะไม่ได้ดีไปตลอด เมื่อมีผลสำรวจออกมาว่า การทำงานจากบ้านทำให้ประสิทธิภาพในผลผลิตงานของพนักงานนั้นลดลง ทำให้โลกหลังโควิด-19 จากที่หลายคนมองว่าจะเป็นการทำงานจากที่ไหนก็ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์จะไม่เกิดขึ้น หากแต่จะเป็นการทำงานแบบผสมผสานมากกว่า อาทิ เข้าออฟฟิศสามวัน ที่เหลือคือทำงานจากบ้าน

ซึ่งเท่ากับว่าจะได้เห็นจำนวนพนักงานที่มาออฟฟิศน้อยลง ขณะเดียวกันบริษัทขนาดเล็กอาจจะต้องตัดสินใจในการเช่าพื้นที่ออฟฟิศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และ Co-Working Space จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะให้ความสะดวกสบายในการประชุม หรือเข้ามาทำงานเป็นโปรเจกต์

 

2. วิธีการควบคุมการทำงานแบบผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

แม้ว่าการทำงานในรูปแบบผสมผสานจะเป็นลักษณะการทำงานในอนาคต แต่ดูเหมือนว่าคนทำงานจำนวนหนึ่งยังไม่พร้อม และมีคนทำงานอีกจำนวนหนึ่งมองเห็นว่ายังเป็นปัญหา ดังเช่นผลสำรวจที่พบว่าการทำงานแบบ Work from Home ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประชุมออนไลน์มักจะไม่บรรลุผล ไม่เกิดการสร้างงานอย่างไร และเป็นการประชุมที่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ เพราะหลังจากประชุมเสร็จ ก็ไม่มีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่าการทำงานแบบผสมผสานที่จะมีการทำงานนอกออฟฟิศและในออฟฟิศนั้นควรจะเป็นเช่นไร และพนักงานจะรับผิดชอบงานได้ดีขนาดไหน ซึ่งหนทางในการแก้ปัญหานั้น การเข้ามาทำงานในออฟฟิศที่เป็นงานรูทีน ยังคงสามารถติดตามการทำงานได้ผ่านแอปพลิเคชัน ที่คอยควบคุมความก้าวหน้าของงาน หากแต่การประชุม ยังคงต้องเป็นการประชุม แบบพบหน้ากันจริง ๆ และหลังจากการประชุม ต้องมีการมอบหมายการทำงานให้ชัดเจนเพื่อจะได้ตามงานได้ถูกต้อง

ขณะเดียวกันการทำงานโดยให้พนักงานรับผิดชอบการทำงานของตนเองโดยไม่ต้องมาออฟฟิศ ยังเป็นการวัดได้ด้วยว่าพนักงานคนนั้นมีประสิทธิภาพในการสร้างงานของตนเองเพียงใด เพราะการทำงานจากบ้านหรือจากที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศนั้นจะต้องใช้การควบคุมตนเองสูงมาก

 

3. สังคมการทำงานที่ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานจะลดลง
เมื่อการทำงานยุคใหม่ไม่ได้เปิดให้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเหมือนในอดีต ประเภทที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำกับเพื่อนร่วมทีม แต่เป็นการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำคนเดียว หรือการประสานกับแผนกต่าง ๆ จะเป็นในลักษณะของการพูดคุยเฉพาะเรื่องงาน ก็อาจหมายถึงการดำเนินงานที่อาจจะเชื่องช้าลง

เมื่อเกิดการทำงานแบบผสมผสาน หรือ Hybrid พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาในการทำงานจากบ้าน สามหรือสี่วันต่อสัปดาห์ อีกหนึ่งหรือสองวันเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ การสร้างสังคมการทำงานสำหรับคนทำงานทำได้ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้พวกเขาได้พบปะพูดคุยกัน หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมเพื่อให้แต่ละแผนกได้ทำงานรู้จักกันในแต่ละเดือน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายบุคคลสามารถบริหารจัดการได้ทั้งหมด และวิธีการดังกล่าวจะทำให้พนักงานได้ผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้นจากการทำงานที่มีแรงกดดันทั้งในออฟฟิศ และที่บ้าน

 

4. “การลาออกครั้งใหญ่” ในโลกหลังโควิด-19
ถ้าคุณเคยผ่านวิกฤตการณ์ระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติโรคระบาด ภัยธรรมชาติ คุณจะรู้ว่าหลังวิกฤติใหญ่ ๆ จะเกิดความเปลี่ยนแปลง และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คุณจะลืมโลกเก่าก่อนหน้านี้ไปเลย และสำหรับวิกฤติโควิด-19 นั้นจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกแห่งการทำงานกับ “การลาออกครั้งใหญ่”

เหตุที่เกิดการลาออกครั้งใหญ่นั้นเพราะโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและเป็นดิจิทัลแบบเต็มตัวในทุกส่วนของการทำงาน หากพนักงานยังพบว่าตนเองยังทำงานแบบเดิม โดยที่บริษัทไม่มีแนวคิดในการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือ ปรับตัวไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของโลก พวกเขาจะรู้สึกล้าหลังและต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง

หากต้องการรักษาพนักงานที่มีประโยชน์เอาไว้ บริษัทเองต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความท้าทายแก่พนักงาน ที่พวกเขาจะสามารถดึงเอาสิ่งที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้ได้ทั้งหมด

 

5. ทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาจะปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีเมื่อทำงานกับบริษัท
ลูกจ้างได้เปรียบเทียบการดูแลของนายจ้าง ระหว่างของตนเองกับนายจ้างบริษัทอื่น ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้พนักงานมาทำงานปกติ แม้ว่าจะมีการขอความร่วมมือในการ Work from Home ความพยายามในการหาวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงาน การดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานในระหว่างล็อกดาวน์

เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้พนักงานตัดสินใจว่าจะอยู่ต่อหรือจะไปหลังโควิด-19 ผ่านพ้นเพราะการทำให้ลูกจ้างยุคใหม่นั้นมีความภักดีต่อองค์กรไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วในยุคนี้ แต่การรักษาคนที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรได้นานที่สุด เป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้น การผ่านวิกฤติโดยที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกทิ้งไว้เพียงลำพัง หรือรู้สึกไม่มีหลักประกันใด ๆ ย่อมทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีต่อองค์กร แต่ในทางกลับกันหากมีการดูแลที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นได้ พนักงานที่ผ่านวิกฤติมาด้วยกันก็ยังคงอยู่กับบริษัทต่อไป

 

 

ที่มา Sanook.com