การจ้างแรงงาน คือ นายจ้างกับลูกจ้างตกลงทำงานให้กันและจ่ายค่าจ้างตอบแทน โดยพื้นฐานของความสัมพันธ์นายจ้างจะต้องมี "อำนาจบังคับบัญชา" ต่อฝ่ายลูกจ้าง หากไม่มีการบังคับบัญชาก็อาจไม่ใช่ลูกจ้างนายจ้างกัน แต่อาจเป็นสัญญาอื่น เช่น จ้างทำของ
หากลูกจ้างมีพฤติการณ์หลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจบังคับบัญชา หรือไม่ปฎิบัติตามกฎระเบียบ นายจ้างก็อาจเลิกจ้างเพื่อให้สัญญาจ้างสิ้นสุดได้ เพราะนายจ้างเองก็คงไม่ประสงค์ที่จะจ่ายเงินให้แก่บุคคลที่ตนไม่อาจบังคับบัญชาสั่งการงานได้
เคยมีคดีลูกจ้างแสดงกิริยาก้าวร้าวพูดกับผู้บังคับบัญชา การกระทำของลูกจ้างเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมไม่สมควรและไม่ถูกต้องเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมและประเพณีอันดีอีกด้วย ประกอบกับลูกจ้างเองก็มีพฤติการณ์มาทำงานสายเป็นประจำ นายจ้างมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
และเมื่อวินิฉัยคดีว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เห็นว่าตามคำสั่งเลิกจ้าง ระบุว่าลูกจ้างไม่อุทิศเวลาทำงานให้บริษัทฯ มีการมาปฏิบัติงานสาย ลาป่วย ลากิจมากเกินปกติ นายจ้างได้ออกหนังสือเตือน ถือว่าเป็นการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
ป.พ.พ.มาตรา 583 "ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหรือละเลยไม่นำพาคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่า นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้"
ที่มา กฎหมายแรงงาน