ถึงแม้ว่าพนักงานคนนั้นจะมาทำงานสายตลอด แต่ตามกฎหมายแรงงานมาตรา 76 ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ,ค่าล่วงเวลา ,ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่ถ้าจะมีการหักเงินหลักเกณฑ์จะมีอยู่ว่า
1. ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
2. ต้องทำหนังสือแจงรายละเอียดอย่างชัดเจน
3. การหักนั้นต้องเป็นไปเพื่อ …
3.1 ชำระภาษีเงิน
3.2 ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงาน
3.3 ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้สวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว
3.4 เป็นเงินประกัน หรือชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างตามมาตรา 10 กรณีลูกจ้างจงใจทำให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฯ
3.5 เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม
แต่ไม่ใช่ว่า บริษัทจะไม่สามารถลงโทษพนักงานที่มาสายได้เลย โดยบริษัทสามารถเพิ่มกฎเกณฑ์การทำงานเข้าไป เพื่อกระตุ้นให้พนักงานทำตามระเบียบได้ดังนี้
1.ใช้หลักการ No work No pay (ไม่ทำงาน ก็ไม่จ่ายค่าจ้าง ทำเท่าไรจ่ายเท่านั้น หารรายชั่วโมง /นาที ) โดยกำหนดเป็นข้อบังคับไว้ในสัญญาจ้างให้ชัดเจน แล้วพูดคุยเพื่อตกลงกับพนักงานในเรื่องหลักเกณฑ์นี้ ชี้แจงเขาอย่างละเอียด ทำไมต้องกำหนดแบบนี้ วัตถุประสงค์คืออะไร เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน
2.กำหนดขั้นตอนการตักเตือนให้พนักงานทราบชัดเจน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นหนังสือ ทำทัณฑ์บน พักงาน เพื่อเป็นการลงโทษ
3.มีการมอบเงินรางวัลหรือเบี้ยขยัน ให้พนักงานที่ ไม่ขาด ไม่สาย ไม่ลา
4.กำหนดเวลาเข้างานเป็น 2 ช่วง เข้าเร็วกลับก่อน เข้าช้ากลับทีหลัง เช่น เข้า 8 โมง กลับ 5 โมง ,เข้า 9 โมง กลับ 6 โมง
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูตามความเหมาะสมของประเภทธุรกิจและตำแหน่งงานของพนักงานด้วย ว่าเรื่องของการทำงาน ควรอยู่ในช่วงใดและต้องไม่เกินช่วงใด ควบคู่ไปกับการพูดคุยกับพนักงานถึงสาเหตุของการมาสาย เพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสม บริษัท Happy พนักงานก็ Happy คือดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทตึงเกินไป พนักงานก็ไม่มีความสุข แต่ถ้าบริษัทให้สิทธิพิเศษ ให้ความยืดหยุ่นในเรื่องเวลางานแล้ว นั่นหมายความว่า บริษัทให้ใจและไว้ใจมาก ดังนั้น พนักงานก็ต้องทำตัวให้สมกับที่เขาไว้ใจ อย่าเป็นแค่ผู้รับเพียงอย่างเดียว เขาให้มา ก็ต้องให้กลับด้วย
ที่มา www.jobbkk.com