พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า สัญญาจ้างแรงงาน หมายความว่า สัญญาไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงานให้
สัญญาการจ้างงาน คือสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เป็นการกำหนดหรือเป็นตกลงเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง
นายจ้าง = จะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ จะได้มากน้อยแค่ไหนก็และแต่จะตกลงกัน
ลูกจ้าง = จะทำงานให้แก่นายจ้าง นอกจากนี้จะต้องซื่อสัตย์ เพื่อรักษาประโยชน์ของนายจ้าง นั่นคือ ไม่นำข้อมูลเกี่ยวกับงบดุล ลูกค้า หรือราคาของบริษัทไปเผยแพร่หรือทำงานในกิจการอย่างเดียวกันในสถานประกอบการที่เป็นคู่แข่ง
สัญญาจ้างแรงงานแม้จะไม่ได้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร แต่นายจ้างให้ลูกจ้างมาช่วยทำงานแม้ไม่มีการทำเป็นหนังสือสัญญาจ้างแรงงาน ก็ถือว่ามี "สัญญาจ้างแรงงาน" เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนั้นสัญญาจ้างแรงงานอาจเกิดขึ้นโดย "ปริยาย" ก็ได้ กล่าวคือ ไม่มีการพูดตกลง หรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาจเกิดขึ้นโดยพฤติการณ์ว่านายจ้างตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานและพร้อมจะจ่ายค่าจ้างให้
กฎหมายไม่มีกฎข้อบังคับว่าสัญญาจ้างแรงงานจะอยู่ในรูปแบบไหน ดังนั้นจึงสามารถทำเป็นรูปแบบหนังสือ หรือจะตกลงกันด้วยวาจาก็ได้ แต่เพื่อป้องกันปัญหาการโต้แย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพราะคนเราเปลี่ยนคำพูดได้เสมอ หรือเข้าใจกันไปคนละอย่าง หรือลืมว่าเคยรับปากกันอย่างไร จึงเกิดทำเป็นสัญญากันขึ้น เมื่อทำเป็นสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงชอบที่จะได้ไว้คนละฉบับ
การที่ HR หรือนายจ้างไม่ให้เอกสาร ลูกจ้างสามารถเก็บหลักฐานอื่นเผื่อมีปัญหาในอนาคต โดยสามารถเก็บหลักฐาน ดังนี้
- ตอนจะเซนสัญญาถ่ายรูปสัญญาไว้
- หลักฐานการแจ้ง ขาด ลา มา สาย ที่ไลน์ หรือช่องทางอื่นๆในการติดต่อสื่อสาร ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจบังคับบัญชา
- การสั่งงาน ทางไลน์ ทางอีเมล
- สลิปเงินเดือน หรือสเตทเม้นที่มีเงินเข้า
- กรณีนายจ้างจ่ายเงินสด ให้ถ่ายรูป หรืออัดวีดีโอ หรือบันทึกเสียงไว้
ที่มา ลีกัล คลินิก แอนด์ เอดดูเคชั่น