คงจะรู้สึกเซ็งไม่น้อยถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าจะรับผู้สมัครคนไหนมาทำงานด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธข้อเสนอเพราะพวกเขาได้งานกับบริษัทอื่นแล้ว ทำให้คุณต้องกลับมาเริ่มต้นกระบวนการสรรหาพนักงานใหม่ตั้งแต่ต้นอีกครั้ง
1. อย่านิ่งนอนใจเมื่อเจอผู้สมัครที่เข้าตา
การติดต่อผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกในภายหลังอาจสายเกินไป ชิงความได้เปรียบด้วยการเตรียมพร้อมรับพนักงานตั้งแต่เห็นแววในวันสัมภาษณ์งานครั้งแรก สอบถามผู้ที่มีหน้าที่สัมภาษณ์งานโดยตรงว่าผู้สมัครงานคนไหนบ้างที่มีโอกาสที่จะได้เข้าทำงาน เพราะผู้ที่สัมภาษณ์จะพอประเมินได้ว่าผู้สมัครรายใดที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่บริษัทต้องการ
2. ขั้นตอนการจ้างงานลงบ้าง
ลดขั้นตอนต่าง ๆ ของการรับสมัครงานให้รวบรัดที่สุด เพราะยิ่งกระบวนการล่าช้าเท่าไร ผู้สมัครงานยิ่งมีโอกาสไปสมัครงานกับบริษัทอื่นมากเท่านั้น ถ้ามีผู้สมัครผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเบื้องต้นให้รีบจัดตารางการสัมภาษณ์งานให้เร็วที่สุด หากกำลังพิจารณาผู้สมัครหลายคน นัดพวกเขามาสัมภาษณ์งานภายในวันเดียวกันก็ได้ และอย่าลืมขอหลักฐานสำคัญประกอบการพิจารณาล่วงหน้าด้วย
3. รับฟังความต้องการของผู้สมัคร
ใส่ใจความต้องการของผู้สมัครงาน โดยถามผู้สมัครงานว่ามีอะไรจำเป็นต้องใช้สำหรับการทำงานในตำแหน่งที่สมัคร เพราะข้อมูลเหล่านั้นมีประโยชน์ทั้งกับพนักงานเดิม และพนักงานใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน รวมทั้งยังเอามาใช้พัฒนาระบบสวัสดิการของบริษัทหรือปรับปรุงการทำงานของแผนกต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรดีขึ้นได้ด้วย
4. อย่าต่อรองเงินเดือนมากเกินไป
ไม่ควรต่อรองเงินเดือนให้ต่ำจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อรองเพื่อลดเงินเดือน หรือสวัสดิการในภายหลังเพราะพวกเขาอาจจะมองหาข้อเสนอที่ดีกว่าจากที่อื่น ถ้าคุณอยากได้คนมีคุณภาพ คุณก็ต้องให้ค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ถ้าเป็นไปได้ให้สำรวจข้อมูลของตลาดเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นว่าตำแหน่งนี้มีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยเท่าไร เพื่อประโยชน์ในการกำหนดหรือต่อรองเงินเดือนกับผู้สมัครของคุณ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างงาน
5. รีบแจ้งผลทันทีถ้าพวกเขาได้งานแล้ว
รีบแจ้งให้ว่าที่พนักงานใหม่รู้ทันทีว่าพวกเขาได้งานแล้ว อย่าปล่อยไว้นาน เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขากำลังพิจารณาข้อเสนอจากบริษัทอื่นอยู่ไหม การแจ้งล่าช้าอาจทำให้คุณพลาดโอกาสในการได้ตัวพนักงานใหม่ไป การโทรศัพท์ไปแจ้งข่าวเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าบริษัทของคุณต้องการตัวพวกเขามากเพียงใด คุณอาจให้เวลาพวกเขามากขึ้นอีกหน่อยด้วยการแจ้งการตกลงรับเข้าทำงานอีกครั้งทางอีเมลเพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาคิดทบทวนก่อนตอบรับอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
6. สอบถามข้อเสนอที่ผู้สมัครได้จากบริษัทอื่น
ถามผู้สมัครอย่างตรงไปตรงมาว่ากำลังพิจารณาข้อเสนอจากที่อื่นอยู่ด้วยหรือไม่ ถามให้ละเอียด เช่น อัตราเงินเดือน สวัสดิการ บรรยากาศการทำงาน สิ่งที่ชอบและไม่ชอบในการทำงาน ตลอดจนถามถึงปัจจัยที่จะทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกทำงานให้กับบริษัท แล้วพิจารณาดูว่าคุณจะให้ในสิ่งที่เหนือกว่าบริษัทคู่แข่งได้หรือไม่ หรือมีช่องทางไหนที่บริษัทของคุณจะทดแทนสวัสดิการหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสมมากพอที่จะให้ผู้สมัครงานเลือกทำงานกับบริษัทของคุณ
7. เอาใจใส่ผู้สมัครเป็นอย่างดี
ต้อนรับทุกคนด้วยความเป็นกันเอง หากบริษัทของคุณมีชื่อเสียงเรื่องสภาพการทำงานที่ดี ลองแนะนำสถานที่และบรรยากาศการทำงานให้ผู้สมัครได้ชมคร่าวๆ เพื่อกระตุ้นความอยากร่วมงานกับคุณ แสดงให้ผู้สมัครได้เห็นว่าบริษัทของคุณมีปัจจัยที่ดีต่อการทำงาน เช่น มีสถานที่ทำงานที่มีดีไซน์สวยงาม ใช้พื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน การนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรจะช่วยสร้างความแตกต่างและความประทับใจให้กับผู้สมัครงานได้ไม่น้อย
ที่มา Jobthai