การทดลองงานคืออะไร ?
การที่รับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว แต่เพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถ ทักษะการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร กฎระเบียบ สภาพแวดล้อม และเพื่อนร่วมงาน จะมีการกำหนดระยะเวลาให้ลูกจ้างได้ทดลองทำงานก่อน เรียกว่า ช่วงทดลองงาน ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็น 120 วัน และหากลูกจ้างปฏิบัติตนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดจึงบรรจุเป็นลูกจ้างจริง
ควรประเมินงานกี่ครั้งดี ?
ควรมีการประเมินงานแบบเป็นอย่างการอย่างน้อย 2 ครั้ง นอกจากการสังเกตการณ์ โดยแบ่งได้ดังนี้
- ครั้งที่ 1 ในช่วง 45 หรือ 60 วันแรก เป็นการติดตามผลการว่าจ้าง เกี่ยวกับการปรับตัว ความสามารถในตำแหน่งงานและผลงานที่ทำได้
- ครั้งที่ 2 เมื่อครบ 100 วัน เพื่อให้เหลือเวลาสำหรับกรณีที่ไม่จ้างต่อในการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหรือการเลิกจ้าง เพราะหากนายจ้างดำเนินการประเมินในช่วงครบ 119 วัน หรือ 120 วันพอดี แล้วไม่จ้างต่อ อาจสุ่มเสี่ยงกับการจัดการเรื่องการเลิกจ้างซึ่งอาจกินระยะเวลามากกว่า 1-2 วัน และเข้าข่ายที่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1)
สิ่งที่ HR และ ลูกจ้างต้องทำระหว่างทดลองงาน
- ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ควรดูแลใส่ใจลูกจ้างเป็นพิเศษ มีการกำหนดวิธีทดสอบทั้งด้านความสามารถในการทำงาน ทัศนคติความคิดเกี่ยวกับงานและองค์กร พฤติกรรมการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ เพื่อประกอบการประเมินและพิจารณาให้ผ่านโปร หรือต่อโปร หรือไม่จ้างงานต่อ
- ลูกจ้างทดลองงาน ควรเร่งพิสูจน์ตนเองเกี่ยวกับงาน ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรและเพื่อนร่วมงาน หากไม่รู้อะไรต้องรีบถาม โดยเปิดใจให้กว้างพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับหรือพัฒนาตนเอง ที่สำคัญเลี่ยงการขาด ลา มาสาย โดยไม่จำเป็น
ความสำคัญของการขยายระยะทดลองงาน หรือการต่อโปร
การขยายเวลาทดลองงาน อาจเพราะายจ้างยังเห็นผลงานของลูกจ้างไม่ชัดเจน หรือยังเสียดายความสามารถหรือศักยภาพในมุมที่ลูกจ้างยังไม่แสดงออกมา โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนหน้าที่งาน หรือเปิดโอกาสให้ลูกจ้างแสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่
HR ต้องจัดการให้ลูกจ้างทดลองงานนั้นได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายแรงงานเท่าเทียมกับลูกจ้างทั่วไป
ลูกจ้าง ต้องเร่งแสดงฝีมือ ให้หัวหน้า ผู้ประเมินเห็น ได้มากที่สุด สามารถสอบถามจากผู้ประเมินได้ว่ายังขาดตกบกพร่องส่วนไหน และเร่งพัฒนาตนเอง
จัดการอย่างไรเมื่อไม่ผ่านทดลองงาน
หากลูกจ้างถูกต่อโปรและทำงานจนเกินระยะเวลา 120 วัน แต่สุดท้ายถูกประเมินว่ายังไม่ผ่านทดลองงาน ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายซึ่งระบุในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างได้ทราบด้วย หากไม่บอกกล่าวให้ถูกต้องก็ต้องจ่ายค่าตกใจ
ที่มา ธรรมนิติ