จ้างประจำ VS Freelance จ้างแบบไหนคุ้มค่ามากกว่า ?

ปัจจุบันการทำธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะมีลูกจ้าง หรือพนักงานประจำไม่เยอะ ใช้คนจำนวนน้อยแต่มากความสามารถ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจ้าง และดูแลพนักงาน ซึ่งมันส่งผลต่อพวกสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตในออฟฟิศด้วย ยิ่งบริษัทเล็ก ๆ ยิ่งมีคนเยอะ ยิ่งมีปัญหามาก ทั้งการประสานงานคนในองค์กร ทั้งการเมืองภายในบริษัท รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้บริษัทยุคใหม่ ธุรกิจสมัยใหม่ทั้งหลายต่างมีแนวโน้มที่จะจ้างงานโดยใช้ Freelance กันมากยิ่งขึ้น

ซึ่งเทรนด์การใช้งาน Freelance นี้เกิดขึ้นมาแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีการจ้างงานฟรีแลนซ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรมากกว่า 40% เลยทีเดียว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับบริษัทขนาดเล็ก และกำลังมองหาช่องทางการลดต้นทุน หรือบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างมืออาชีพ ลองศึกษาข้อมูลเอาไว้ก่อนไม่เสียหาย

จ้าง Freelance ดีกว่าพนักงานประจำอย่างไร

1. ทำให้ต้นทุนการทำงานถูกลง

เพราะอัตราการจ้างฟรีแลนซ์คนหนึ่งนั้น ถูกกว่าการจ้างพนักงานเงินเดือนอย่างมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องสวัสดิการ ค่าประกันสังคม รวมถึงมีการดูแล ต้อนรับต่าง ๆ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในออฟฟิศ ไปจนถึงอุปกรณ์ทำงาน

2. ได้คนถนัดเฉพาะทางมาทำงานให้

การจะจ้างพนักงานสักคนคุณต้องมีการนัดสัมภาษณ์ และต้องผ่านการเสียเวลากับคนที่ไม่ใช่มาแล้วมากมาย กว่าจะเจอคนที่เก่งหรือทำงานที่คุณต้องการได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลามาก และมันส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เพิ่งก่อตั้ง หรือมีทุนน้อย การจ้างงานฟรีแลนซ์ที่เก่งแบบไม่ต้องเสี่ยงดวงและไม่ต้องจ้างแบบเต็มจำนวน แค่ต้องการจ้างงานเมื่อไหร่ก็ติดต่อไปเท่านั้นพอ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายถูกลงอีกด้วย

3. องค์กรเล็ก แต่รับงานได้เพียบ

คุณสามารถรับงานได้เยอะมากขึ้นจากการจ้าง Freelance เนื่องจากคุณไม่ต้องถูกจำกัดด้วยจำนวนพนักงานในสังกัด แต่คุณมีพนักงานให้เลือกใช้งานได้เพียบทั่วประเทศไทย ส่งผลให้คุณรับงานจากลูกค้าได้เพิ่มขึ้น มีเวลาในการไปติดต่อลูกค้า หรือบริหารธุรกิจในส่วนอื่นได้อย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม

4. ได้ไอเดียสดใหม่ไม่ซ้ำ

ธุรกิจบางอย่างที่ขายไอเดียความคิดสร้างสรรค์ การจ้างฟรีแลนซ์ให้เข้ามาช่วยเติมเต็มสีสันตรงนี้จึงจะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้หลุดออกจากรูปแบบแพทเทิร์นเหล่านั้นได้ และช่วยให้ลูกค้าถูกใจในความสดใหม่ไม่จำเจ

5. ทำงานได้ตลอดไม่มีแม้แต่วันหยุด

สุดท้ายแล้วฟรีแลนซ์นั้นจะมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากกว่าพนักงานประจำ ตรงที่พวกเขารับงานเป็นจ็อบ และทำงานตามบรีฟเท่านั้น คุณไม่จำเป็นต้องกังวลว่านี่คือเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุด

แต่ก่อนจ้างฟรีแลนซ์เจ้าของกิจการควรพิจารณา 3 ปัจจัยนี้ก่อน

1.ค่าใช้จ่าย

แน่นอนว่าการจ้างพนักงานประจำให้ความมั่นคงและความรับผิดชอบต่องานที่สูงกว่า นอกจากนั้นพนักงานประจำจะเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรและรู้สิ่งที่คุณต้องการได้ง่ายกว่าฟรีแลนซ์ อย่างไรก็ตาม พนักงานประจำมีทั้งรายได้ ประกันสังคม เวลาพักร้อน ภาษี คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องจ่ายเงินไป การจ้างพนักงานเป็นคู่สัญญาช่วยประหยัดเงินและยังสามารถต่อรองเงินเดือนได้มากกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม คุณไม่สามารถควบคุมพนักงานคู่สัญญาได้ทั้งหมดและยังไม่สามารถบังคับให้พวกเขาทำตามวัฒนธรรมองค์กรหรือผลิตงานที่คุณต้องการได้ 100%

2.ผลกำไรที่ได้

พนักงานคู่สัญญาส่วนใหญ่จะทำงานกันไม่นานแล้วก็จบกัน จุดที่ดีคือการนำคนที่เหมาะกับงานอย่างหนึ่งเข้ามารับมือกับมันแล้วก็หาคนใหม่ที่เหมาะกับงานใหม่มาทดแทนเรื่อยๆ หากคนไหนไม่เวิร์คก็แค่ให้เขาออกไปแล้วจ้างคนใหม่มา อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทชอบคิดว่ากำไรที่มากเกินไปน่าจะมีอะไรผิดปกติ พวกเขาคิดว่าต้องจ่ายค่าฝึกฝน ค่ากระดาษ ค่าเขียนรายงานเยอะๆ จะได้การันตีว่าผลงานออกมาดีซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นเลย โฟกัสที่สิ่งที่คุณต้องการที่สุดคือกำไรซะแล้ววัดผลว่าพนักงานทำได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียคือคุณจะไม่สามารถสร้างความจงรักภักดีกับพนักงานไม่เต็มเวลาได้ พวกเขาก็เหมือนคุณที่ต้องนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อน

3.การเป็นอันหนึ่งอันเดียว

แน่นอนว่าพนักงานคู่สัญญาจะไม่เข้าใจภารกิจของบริษัทคุณมากเท่ากับพนักงานประจำอยู่แล้ว พวกเขาอาจไม่สนใจคุณด้วยซ้ำ ในกรณีพนักงานประจำหากคุณดูแลเขาดีเขาอาจจะก้าวหน้าไปได้มากกว่าคุณและกลายเป็นผู้ช่วยที่ดีหรือกลายเป็นพาร์ทเนอร์กันในอนาคตแต่สำหรับพนักงานคู่สัญญานั้นคุณไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขามีพื้นฐานเป็นอย่างไร นอกจากนั้นพวกพนักงานพาร์ทไทม์ส่วนใหญ่จะมีวิถีปฏิบัติของตัวเอง พวกเขามักไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามคุณเท่าไหร่หรอก ดังนั้นอย่าไปคาดหวังว่าพวกเขาจะมาเอาตามคุณ

 

เมื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว อาจจะทำให้นายจ้างอย่างเรา ชั่งน้ำหนักได้ว่า เราจะเลือกจ้างพนักงานแบบไหนให้เหมาะสมกับองค์กรเราที่สุด 

 

 

ที่มา เพจ Smart SME และ www.marketingoops.com