การพักงานลูกจ้าง

การพักงานลูกจ้างภาคเอกชนอาจแบ่งเป็น
ก. การพักงานเพื่อการสอบสวน มีบัญญัติในมาตรา ๑๑๖ , ๑๑๗ ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มีเจตนารมณ์ในการป้องกันไม่ให้นายจ้างที่ทำการสอบสวนลูกจ้างซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในการทำงาน สั่งพักงานลูกจ้างในระยะยาวนานโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก (แต่เดิมนายจ้างสักพักงานเป็นปีก็มี)

ตามกฎหมาย นายจ้างจะสั่งพักงานได้ก็ต่อเมื่อ

  1. ลูกจ้างได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในการทำงาน
  2. นายจ้างประสงค์จะทำการสอบสวนลูกจ้างและพักงานลูกจ้างนั้น
  3. มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่านายจ้างมีอำนาจสั่งพักงานลูกจ้างได้
  4. นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการพักงานนั้นแล้ว

จะเห็นได้ว่า การสั่งพักงานลูกจ้างนั้น จะต้องมีพฤติการณ์ที่เข้าองค์ประกอบครบ 4 ข้อข้างต้น นายจ้างจึงจะสั่งพักงานได้โดยถูกต้องตามมาตรา ๑๑๖ หากทำไม่ชอบนายจ้างอาจได้รับโทษทางอาญาตามกฎหมายได้

ในระหว่างพักงานนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามอัตรที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือตามที่ลูกจ้างนายจ้างตกลงกันไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถ้าตกลงกันไว้จำนวนเท่าใดก็ให้จ่ายจำนวนเท่านั้นแต่อัตราที่ตกลงกันจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนสั่งพักงาน

เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นลงแล้ว (ไม่ว่าจะเสร็จภายใน ๗ วัน หรือเกินกว่าล่าวข้างต้นก็ตาม) ไม่ปรากฏว่าลูกจ้างมีความผิดนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานทั้ง ๗ วันนั้นโดยนายจ้างมีสิทธิที่จะหักเงินส่วนที่ได้จ่ายไปในระหว่างแล้วออกจากค่าจ้างได้เงิน ส่วนที่จะต้องจ่ายเพิ่มนี้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีด้วย

หากสอบสวนแล้วลูกจ้างทำผิดจริงก็อาจลงโทษทางวินัย เช่น ตักเตือน พักงาน เลิกจ้าง ไล่ออกได้

ข.การพักงานในลักษณะเป็นการลงโทษทางวินัยกฎหมายมิได้ระบุไว้โดยตรง นายจ้างอาจสอบสวนมาก่อน หรือลงโทษพักงานลูกจ้างที่ทำผิดวินัยเลยก็ได้

ในทางปฏิบัติจะกำหนดไว้ในข้อบังคับ ระเบียบคำสั่งของนายจ้าง หรือมีข้อตกลงกับสหภาพแรงงานไว้ อาจจะกำหนดพักงาน 5 วัน 7 วัน และระบุว่าไม่ได้ค่าจ้าง ก็ได้
แต่การกำหนดให้พักงานในเวลาที่ยาวนานหรือไม่มีกำหนดเวลาชัดเจนแน่นอน และไม่จ่ายค่าจ้างด้วย ก็อาจไม่ชอบ และอาจเข้าข่ายมีเจตนาเลิกจ้างตามนิยามในมาตรา 118 วรรคสองได้

ขณะที่การพักงานลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้าง จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อน จึงจะมีคำสั่งพนักงานลูกจ้างได้ หากไม่ขอศาล แต่ไปพักงานทันทีอาจได้รับโทษทางอาญาตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้
 

ที่มา Facebook อาจารย์ Narongrit Wannaso