Receivables Turnover Ratio คืออะไร และวัดการเรียกเก็บหนี้ของบริษัทได้อย่างไร
Receivables Turnover Ratio หรือ อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการเรียกเก็บหนี้ของบริษัทแสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้หรือบริหารสินเชื่อที่ขยายให้กับลูกค้าและการรวบรวมหรือจัดการหนี้ระยะสั้นของบริษัท
วิธีการคำนวณ Receivables Turnover Ratio การคำนวณ อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า จะต้องใช้ข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมักจะใช้เป็นปีและค่าที่ออกมาจะมีหน่วยเป็นเท่า
- ยอดขายเชื่อ (Net Credit Sales) หมายถึง ยอดการขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าโดยยังไม่ได้รับการชำระค่าสินค้าในทันทีที่ลูกค้าซื้อสินค้าจากบริษัท
- ลูกหนี้การค้าเฉลี่ย (Average Account Receivable) หมายถึง ค่าเฉลี่ยของเงินที่ลูกค้าค้างชำระค่าสินค้าหรือบริการคิดจากลูกหนี้ต้นงวดรวมกับลูกหนี้ปลายงวดแล้วหารด้วยสอง
วิธีการดูค่าของ Receivables Turnover Ratio
- ถ้า Receivables Turnover Ratio มีค่าสูง หมายถึง บริษัทมีความสามารถในการเรียกเก็บหนี้สูงมีการดูแลกระบวนการของการชำระหนี้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสามารถบอกได้ว่าการลงทุนในบริษัทนี้จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าบริษัทอื่น
- ถ้า Receivables Turnover Ratio มีค่าต่ำ หมายถึง บริษัทมีความสามารถในการเรียกเก็บหนี้ต่ำโดยอาจบอกได้ว่าบริษัทไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับกระบวนการชำระหนี้ที่ดีมากเพียงพอหรืออาจเกิดจากลูกค้าที่มีปัญหาทางด้านสถานะทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาพรวมของบริษัท
Receivables Turnover Ratio สูงหรือต่ำถึงจะดี ?
โดยหาก ยิ่งมีค่าที่สูงยิ่งดี
Tips : แต่ในบางครั้งการมีค่าของ Receivables Turnover Ration ที่สูงเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะ อาจทำให้ลูกค้าบางส่วนหันไปใช้บริการกับทางบริษัทคู่แข่งที่มีการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ที่มากกว่า
แต่การจะดูว่าค่าของ Receivables Turnovers Ratio ดีจริงหรือไม่ ต้องนำค่าไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อเปรียบเทียบว่ามีค่าที่สูงหรือต่ำกว่าบริษัทคู่แข่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ยกตัวอย่างการใช้ Receivables Turnover Ratio จากสถานการณ์จริง
ยกตัวอย่างการอ่านค่า Receivables Turnover Ratio ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงไตรมาส 1 ปี 2021 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2017 มีค่า Receivable Turnovers เท่ากับ 358.59 เท่า หมายความว่า บริษัทมียอดขายเชื่อมากกว่าลูกหนี้การค้าเฉลี่ยมากถึง 358.59 เท่า
- ปี 2018 มีค่า Receivable Turnovers เท่ากับ 279.38 เท่า หมายความว่า บริษัทมียอดขายเชื่อมากกว่าลูกหนี้การค้าเฉลี่ยมากถึง 279.38 เท่า
- ปี 2019 มีค่า Receivable Turnovers เท่ากับ 293.22 เท่า หมายความว่า บริษัทมียอดขายเชื่อมากกว่าลูกหนี้การค้าเฉลี่ยมากถึง 293.22 เท่า
- ปี 2020 มีค่า Receivable Turnovers เท่ากับ 312.26 เท่า หมายความว่า บริษัทมียอดขายเชื่อมากกว่าลูกหนี้การค้าเฉลี่ยมากถึง 312.26 เท่า
- จึงสามารถสรุปข้อมูลตั้งแต่ปี 2017 – 2020 ได้ดังนี้
ค่าของอัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้า ในปีแรกมีค่าอยู่ที่ 358.59 เท่า แต่ในสองปีถัดไปมีค่าอยู่ที่ 293.22 เท่า แสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นมีประสิทธิภาพในการจัดการหนี้น้อยลงและกลับมาดีขึ้นในปีสุดท้ายโดยมีค่าอยู่ 312.26 เท่า
โดยปกติแล้ว บริษัทจะใช้ Receivables Turnover Ratio ในการประมาณระยะเวลาเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ระหว่างปี ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 มีค่าอัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้าอยู่ที่ 312.26 เท่า จากนั้นนำจำนวนวันในหนึ่งปีหรือ 365 วัน หารด้วย 312.26 ซึ่งจะได้ประมาณ 1.17 วัน หมายความว่าบริษัทนี้คาดการณ์ว่าลูกค้าของพวกเขาจะใช้เวลาประมาณ 1.17 วันในการชำระหนี้ ซึ่งทางบริษัทสามารถนำข้อมูลนี้่ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนนโยบายการชำระเงินให้เหมาะสมกับลูกค้าของตนเองได้
การสรุปผลนี้เป็นเพียงการเปรียบเทียบอัตราหมุนเวียนลูกหนี้การค้าผ่านข้อมูลในอดีตของบริษัทเท่านั้น แต่หากต้องการทราบว่าค่า Receivables Turnover ของบริษัทมีประสิทธิภาพจริงมั้ย เราควรที่จะนำค่าไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อหาค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แล้วค่อยเปรียบเทียบว่ามีค่าที่สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจึงจะสามารถบอกได้ว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการดูแลการชำระหนี้จริงหรือไม่
ที่มา knowledge.bualuang.co.th