การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)

สินค้าคงคลัง (Inventory) คือ วัตถุดิบหรือสินค้าที่เก็บไว้เพื่อรอการผลิตหรือจัดจำหน่ายในอนาคต สินค้าคงคลังส่วนใหญ่มีมูลค่า ซึ่งทำให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยธุรกิจต้องจัดการให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หากมีสินค้าคงคลังมากเกินไปจะทำให้ต้นทุนในการจัดเก็บและการดูแลรักษาสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากสินค้าคงคลังมีน้อยเกินไป อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ปัจจุบัน หลายธุรกิจต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพื้นที่เก็บของ

ประเภทของสินค้าคงคลัง

  1. สินค้าคงคลังประเภทวัสดุหรืออุปกรณ์ซ่อมบำรุง สินค้าคงคลังประเภทนี้ไม่ได้ถูกใช้ในกระบวนการผลิตโดยตรง แต่มีไว้เพื่อซ่อมแซมและบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักร ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักร หรือถุงมือการแพทย์สำหรับการผ่าตัด
  2. สินค้าคงคลังประเภทวัตถุดิบ สินค้าคงคลังประเภทวัตถุดิบคือสินค้าที่เตรียมไว้เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบเป็นส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจไม่คงสภาพเดิมหลังจากผ่านกระบวนการผลิตแล้ว
  3. สินค้าคงคลังประเภทอยู่ในขั้นตอนการผลิต สินค้าคงคลังประเภทนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เป็นสินค้าหรือวัตถุดิบที่ยังอยู่ในขั้นตอนการผลิต รอกระบวนการแปรรูปเพิ่มเติมเพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดจำหน่าย
  4. สินค้าคงคลังประเภทสำเร็จรูป สินค้าคงคลังประเภทสำเร็จรูปคือสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ (QC) เรียบร้อยแล้ว อาจตรวจสอบคุณภาพทุกชิ้นหรือสุ่มตรวจจากตัวอย่าง เพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพหรือมีตำหนิ สินค้าประเภทนี้พร้อมสำหรับการจัดจำหน่ายในขั้นตอนถัดไป

สินค้าคงคลังมากเกินไปคืออะไร

สินค้าคงคลังมากเกินไป หรือสินค้าส่วนเกิน คือสินค้าที่เกินความต้องการของผู้บริโภค มีการสต็อกสินค้าไว้ในคลังเป็นจำนวนมากแต่ยังขายไม่ออก ส่งผลให้มีต้นทุนการดูแลรักษาเพิ่มขึ้น สาเหตุของสินค้าคงคลังมากเกินไปอาจมาจากการคาดการณ์ความต้องการสินค้าผิดพลาด หรือการจัดการสินค้าคงคลังที่ไม่ประสบความสำเร็จ

สินค้าคงคลัง กับ คลังสินค้า ต่างกันอย่างไร

สินค้าคงคลังคือสินค้าที่จัดเก็บไว้ภายในคลังสินค้า ส่วนคลังสินค้าคือสถานที่หรือโกดังที่สร้างขึ้นมาเพื่อจัดเก็บสินค้า มีการแบ่งโซนและจัดเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการจัดเก็บสินค้าประเภทต่างๆ คลังสินค้าต้องมีการบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่ดี โดยใช้ระบบ WMS (Warehouse Management System) หรือโปรแกรมบริหารจัดการคลังสินค้า เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ลดข้อผิดพลาดจากการทำงาน และลดต้นทุนการจ้างงาน ระบบบริหารจัดการคลังสินค้าดูแลตั้งแต่การรับสินค้า การจัดเก็บ ย้าย นับสต๊อก การเบิกจ่าย และจำหน่ายสินค้า รวมถึงรายงานจำนวนสินค้าคงคลังและการเช็คสถานะของสินค้า

การบริหารจัดการสินค้าคงคลังแบบมืออาชีพ 

การบริหารจัดการสินค้าคงคลังคือหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ เพื่อให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังเป็นไปอย่างมืออาชีพ มีแนวทางดี ๆ ดังต่อไปนี้:

  • แยกรหัสสินค้าและติดป้ายบาร์โค้ด: การแยกประเภทสินค้าด้วยรหัสหรือป้ายบาร์โค้ด เพื่อให้ตรงกับรายการสินค้าที่ขายบนเว็บ E-commerce รวมถึงการกำหนด SKU (Stock Keeping Unit) ให้แต่ละประเภทสินค้า เพื่อช่วยในการจัดส่งที่รวดเร็วและแม่นยำ

  • ตรวจนับสต๊อกอย่างสม่ำเสมอ: การเช็คจำนวนสินค้าคงคลังอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือสุ่มตรวจเฉพาะบางรายการทุกเดือน เพื่อให้มั่นใจว่ามีสินค้าคงคลังเพียงพอและถูกต้อง

  • จัดการกับสินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหว: สำหรับสินค้าค้างสต๊อกที่ขายไม่ออก สามารถนำมาจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อกระตุ้นยอดขาย

  • กำหนดปริมาณสินค้าคงคลังให้เหมาะสม: การจดบันทึกการเข้าออกของสินค้าในคลัง ควบคู่กับการดูยอดขายในอดีต เพื่อจัดหาสต๊อกให้เพียงพอ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ขายดีและไม่ดี รวมถึงวัตถุดิบที่ต้องลดหรือสั่งซื้อเพิ่ม ควรพิจารณาตัดสต๊อกสินค้าที่ไม่จำเป็นออก

  • ใช้ระบบสินค้าคงคลังหรือโปรแกรม WMS: การใช้ระบบหรือโปรแกรมบริหารจัดการคลังสินค้า (WMS) เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน ลดข้อผิดพลาดจากการทำงาน และช่วยให้การบริหารจัดการสินค้าคงคลังมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา www.taobao2you.com