การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax) คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากมีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งจะเป็นการป้องปรามทางภาษีอากร โดยการตรวจสอบภาษีย้อนหลังจะดำเนินการโดย 3 หน่วยงาน คือ 1.กรมสรรพากร 2.กรมศุลกากร 3.กรมสรรพสามิต โดยสาเหตุที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมี 2 ประเด็นดังนี้
- ยังไม่จ่ายภาษี
- จ่ายภาษีไม่ถูกต้องหรือไม่ครบ
หากไม่จ่ายภาษีย้อนหลัง โทษมีอะไรบ้าง
- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี
- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่าไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำอย่างไรไม่ให้โดนภาษีย้อนหลัง
- ยื่นภาษีทุกปี และต้องตรวจสอบเอกสารรายรับของธุรกิจให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนยื่นภาษี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง
- ทำบัญชีรายเดือน เพื่อเป็นหลักฐานในการยื่นภาษีรายได้ในแต่ละปี และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม อย่างธุรกิจออนไลน์ขนาดเล็กที่คิดว่าการทำบัญชีอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่ระวังจะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเหมือนกับเคสข้างต้น
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภาษีอยู่เสมอ เพราะว่าการยื่นภาษีในแต่ละปีมักจะมีเงื่อนไขใหม่ๆ ออกมาเสมอ ซึ่งผู้ประกอบการควรติดตามข่าสารเรื่องภาษีอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเป็นประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษี
ที่มา www.smethailandclub.com และ กรมสรรพากร
13 December 2022
View
1,600