บริหารยอดขายพุ่ง ดูกำไรขาดทุนให้เป็น

ผู้ประกอบการ SME อย่างเราๆ มักจะสนใจแต่ตัวเลขเมื่อเห็นยอดขายพุ่ง กำไรสูง ก็ยิ้มกริ่มเตรียมเฮ แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะจะแน่ใจได้อย่างไรว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ลวงตาคุณอยู่ ธุรกิจของคุณกำลังไปได้สวยจริงหรือ?

 

SME สามารถเช็กสุขภาพการเงินได้ไม่ยากจากงบกำไรขาดทุน แค่ดูให้ดี ดูให้เป็น แล้วคุณจะเห็นสัญญาณเตือนภัยของธุรกิจ งบกำไรขาดทุนคือ งบการเงินที่แสดงผลการดำเนินงานของธุรกิจในแต่ละงวดบัญชี ทั้งยอดขาย ต้นทุน และกำไร ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกันจะบอกได้ว่า ธุรกิจมีความสามารถสร้างกำไรได้ดีแค่ไหน โดยดูจากอัตราส่วนกำไรต่อยอดขาย

​โดยค่าที่คำนวณได้ ยิ่งสูงยิ่งดี เป็นตัวบอกว่าธุรกิจมีความสามารถในการทำกำไรต่อยอดขายได้ดีแค่ไหน เพราะยอดขายสูงๆ กำไรที่ดูเยอะ แท้จริงแล้วอาจจะไม่คุ้มทุนเลยก็ได้ เช่น ในปี 2557 บริษัทเอสเอ็มอีมียอดขาย 300 บาท กำไร 60 แต่ในปี 2558 มียอดขาย 100 บาท กำไร 20 บาท มองผ่านๆ ก็อาจจะเครียดเพราะยอดขายตกลงมาก จาก 300 บาทเหลือเพียง 100 บาทเท่านั้น แต่หากลองพิจารณาดูดีๆ แล้วจะพบว่า กำไรต่อยอดขายยังเท่าเดิมคือ 20% นั่นย่อมแสดงว่าในปี 2558 ถึงแม้จะมียอดขายลดลงแต่บริษัทก็สามารถควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น จึงทำให้ธุรกิจมีสัดส่วนกำไรเท่าเดิมนั่นเอง
  
ทั้งนี้กำไรหรือขาดทุนก็มีอยู่หลายระดับ ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานในแง่มุมที่แตกต่างกันดังนี้

  • กำไรขั้นต้น คือ ยอดขาย หักต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการ เมื่อนำมาคำนวณอัตราส่วนกำไรขั้นต้นต่อยอดขาย จะใช้วัดประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนการผลิตขอ​งธุรกิจ

 

  • กำไรจากการดำเนินงาน คือ กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน และเงินเดือนพนักงาน เป็นต้น เมื่อคำนวณอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขาย สามารถวัดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจได้

 

  • ​กำไรสุทธิ คือ กำไรหลังจากหักดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวและภาษี หากนำมาคำนวณอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขาย จะสะท้อนถึงผลกำไรทั้งหมดของธุรกิจว่าสุดท้ายแล้วผลการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ คุ้มที่จะทำต่อหรือไม่


ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 บริษัทเอสเอ็มอีมียอดขาย 100 บาท ต้นทุนขาย 60 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 30 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยและภาษี 10 บาท จะสามารถคำนวณอัตราส่วนกำไรขั้นต้นได้ 40% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน 10% และอัตราส่วนกำไรสุทธิ 0% นั่นแปลว่ายอดขายหรือรายได้ของบริษัทไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจ เพราะเมื่อหักดอกเบี้ยเงินกู้และภาษีแล้วไม่เหลือกำไรเลย ย่อมแสดงว่าบริษัทเอสเอ็มอีต้องเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น หรือหากไม่สามารถเพิ่มยอดขายขึ้นได้ ก็ต้องพยายามลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงให้ได้ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย หรืออีกทางก็คือการศึกษาหาวิธีประหยัดภาษี เรียกว่าต้องพยายามหาทางสร้างกำไรให้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดีเอสเอ็มอีต้องมีการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เพื่อเป็นการวัดประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ควรมีการเทียบแนวโน้มแต่ละปี เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ และต้องไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย เพราะตัวเลขของบริษัทเราที่ว่าดูดีแล้ว อาจจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือคู่แข่งก็เป็นได้

ที่มา : www.kasikornbank.com