การจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ SME ที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เก่งด้านการตลาด การบริหาร หรือมีลูกค้าอยู่ในมือ มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รู้เรื่องกระบวนการผลิตเป็นอย่างดีเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการเงิน บัญชี และกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายภาษีอากร ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ปราศจากปัญหา ความเสี่ยง ความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง มาดูกันดีกว่าว่ามีภาษีอะไรบ้าง
1. ภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประกอบกิจการด้วยการให้บริการ การผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง ต้องนำรายได้มาคำนวณเพื่อหักภาษีตามเกณฑ์การประเมิน ซึ่งสามารถหักแบบเหมาจ่าย หรือขอหักตามความจำเป็นตามสมควรได้ รวมทั้งสามารถหักค่าลดหย่อนต่างๆได้ด้วย
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ไม่ว่าในปีนั้นๆ จะมีผลกำไรหรือขาดทุน
ภาษีนิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเพื่อนำส่งรายได้ให้ภาครัฐ เก็บในอัตราสูงสุดไม่เกิน 30% ของกำไรสุทธิ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการแบบไหน ต้องยื่นภาษี 2 ครั้งต่อปี ดังนี้
บุคคลธรรมดา : แบบภาษีบุคคลธรรมดาครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด.94 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.90
นิติบุคคล : แบบภาษีเงินได้ครึ่งปีใช้ ภ.ง.ด.51 และภาษีเงินได้ประจำปีใช้ ภ.ง.ด.50
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
คือภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขาย โดยผู้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียน VAT ก็คือผู้ประกอบการมียอดขายมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าถ้าธุรกิจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทันที ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เสมอไป เพราะถ้าเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาก็ตามที่มียอดขายน้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ไม่ต้องไปจดทะเบียน VAT ก็ได้ แต่กิจการที่เป็นธุรกิจบุคคลธรรมดาหรือจดทะเบียนพาณิชย์ ถ้ามีรายได้จากการขายหรือบริการมากกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องไปจดทะเบียน VAT ปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มคือร้อยละ 7 จากยอดมูลค่าสินค้าและบริการ มาทำความรู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบไปด้วยภาษีขายและภาษีซื้อ
ภาษีขาย คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จดทะเบียน VAT เรียกเก็บจากผู้ซื้อในการขายสินค้าหรือบริการ เป็นภาษีที่ต้องนำส่งกรณีขายมากกว่าซื้อ
ภาษีซื้อ คือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการต้องชำระให้ผู้ขายในการซื้อสินค้า เป็นภาษีที่ขอคืนได้ถ้าน้อยกว่าภาษีขายในรอบนั้น
นอกจากธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีไม่ต้องจดทะเบียน VAT แล้ว ยังมีธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มอีก โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียน VAT จำเป็นต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มโดยใช้แบบ ภพ.30 และต้องยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมทั้งต้องจัดทำเอกสารดังนี้มีใบกำกับภาษี, รายงานภาษีขาย, รายงานภาษีซื้อ, รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งเพิ่ม = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ (กรณีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ)
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอเครดิตคืน = ภาษีซื้อ - ภาษีขาย (กรณีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย)
3. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
เป็นภาษีที่กฎหมายกำหนดให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามมาตรา 40 ต้องมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเพื่อนำส่งให้รัฐ หากไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ต้องมีโทษปรับและต้องร่วมรับผิดชอบกับผู้มีเงินได้ด้วย กรณีกิจการจดเป็นนิติบุคคลและจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างไปหรือจ่ายให้กับผู้รับจ้างทำของไป นิติบุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ และเหลือเท่าไหร่ก็จ่ายเป็นเงินไปพร้อมใบภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้รับเงิน
4. ภาษีบำรุงท้องที่
ถ้าเป็นเจ้าของที่ดิน ก็จะถูกเก็บภาษีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในเดือนเมษายนของทุกปี
5. ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับบุคคลที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับหอพัก ห้องเช่า อพาร์ทเมนท์ ต้องเสียภาษี 12.5% ต่อปีของรายได้จากค่าเช่า และต้องชำระภาษีส่วนนี้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภอ ที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
6. ภาษีป้าย
ถ้าไม่ใช่ป้ายในลักษณะที่ได้รับการยกเว้นต้องเสียภาษีประเภทนี้ในทุกๆ ป้าย ไม่ว่าจะเป็นป้ายติดหน้าร้าน ป้ายโฆษณา โดยภาษีป้ายจะคิดจากขนาดของป้ายเริ่มต้นที่ 200 บาท ต้องยื่นชำระที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่ตั้งของป้าย ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
7. ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน หลักทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์
นอกจากภาษีที่กล่าวมาแล้วยังมีภาษีสรรพาสามิต ถ้ากิจการของคุณเป็นกิจการที่ขายน้ำ เครื่องดื่ม และมีภาษีศุลกากร กรณีเป็นกิจการนำเข้าและส่งออก แต่โดยส่วนใหญ่นิติบุคคลทั่วไปจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาษีที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ควรรู้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการถูกปรับได้ภายหลัง
ที่มา bangkokbanksme.com
แหล่งอ้างอิง :
https://www.rd.go.th/
https://bsc.dip.go.th/
http://www.bangkok.go.th/