ทำตัวเลขให้ขาดทุนเพื่อจะได้ไม่เสียภาษีได้ไหม !?

อีกหนึ่งเรื่องที่เจ้าของธุรกิจหลายๆท่านเข้าใจว่าการทำตัวเลขให้กิจการขาดทุนนั้น จะทำให้กิจการไม่ต้องเสียภาษี บอกเลยว่า "ท่านกำลังเข้าใจผิดอยู่!!" เพราะว่าการเสียภาษีนั้นไม่ได้เกี่ยวกับ “กำไรหรือขาดทุนทางบัญชี” ที่ธุรกิจได้ทำมา แต่มันเกี่ยวกับ “กำไรขาดทุนสุทธิทางภาษี” ต่างหาก

 

ซึ่ง "กำไรของธุรกิจ" มาจาก  รายได้ หักด้วย ค่าใช้จ่าย ถ้ารายได้มากกว่าก็ถือว่าเป็น "กำไร" แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่าก็กลายเป็น “ขาดทุน” หรือสมการคือ กำไร(ขาดทุน) = รายได้ - ค่าใช้จ่าย นั่นเอง

โดยหลักการทางบัญชีนั้น เราจะใช้ กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางบัญชี คือ กำไรขาดทุนที่มาจาก รายได้ทางบัญชีหักด้วยค่าใช้จ่ายทางบัญชี หรือที่เราเห็นตัวเลขที่แสดงไว้ในงบกำไรขาดทุนนี่เอง แต่สำหรับการคำนวณภาษีแล้ว เราไม่ได้สนใจเพียงแค่กำไรขาดทุนทางบัญชีเพียงอย่างเดียว เพราะเราสนใจ กำไร(ขาดทุน) ทางภาษี ต่างหาก!! ซึ่งเรียงลำดับมาได้ดังนี้

ภาษีของธุรกิจ = กำไร x อัตราภาษีเงินได้
โดยกำไร = กำไรทางภาษี

ดังนั้นถ้าธุรกิจมีขาดทุนทางภาษีถึงจะแปลว่าไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

 

หลายท่านก็ยังสงสัยว่าแล้วกำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีคืออะไร ??

กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษี คือ กำไรขาดทุนที่ใช้ในการคำนวณภาษี ซึ่งมาจาก รายได้ทางภาษีหักด้วยค่าใช้จ่ายทางภาษีออกมาเป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุน หรือสมการคือ กำไร(ขาดทุน)ทางภาษี = รายได้ทางภาษี - ค่าใช้จ่ายทางภาษี

ซึ่งกำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีมีความแตกต่างกันทั้งหมด 4 รูปแบบดังนี้

1) รายได้ที่ถือเป็นรายได้ทางภาษี คือ รายได้ที่ทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้แต่ต้องถือเป็นรายได้ทางภาษี
2) รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น คือ รายได้ที่ทางบัญชีถือเป็นรายได้ แต่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
3) รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางหลักภาษี
4) รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น คือ รายจ่ายที่ทางภาษีกำหนดให้หักเป็นรายจ่ายได้มากกว่าหลักการบัญชี

ทั้ง 4 รายการสามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

กำไร (ขาดทุน) ทางภาษี
กำไร (ขาดทุน) ทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ + รายจ่ายต้องห้าม - รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น - รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น

 

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจหลายๆธุรกิจมีปัญหาเรื่องภาษี ก็เพราะตัวของเจ้าของธุรกิจเองนั้น ไม่รู้เลยว่าการปรับปรุงกำไร(ขาดทุน)ทางบัญชีเป็นกำไร(ขาดทุน)ทางภาษีนั้นมีขั้นตอนแบบนี้ จึงทำให้ตัวเลขที่ทางบัญชีพยายามทำให้ขาดทุนโดยการเพิ่มรายจ่ายนั้น กลายเป็นรายจ่ายต้องห้ามที่ต้องมาบวกกลับในการคำนวณกำไรขาดทุนทางภาษีเสียนี่ (เช่น รายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของ รายจ่ายค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกินกว่าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจริง) 

 

ดังนั้น การวางแผนภาษีธุรกิจที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่การเพิ่มรายจ่ายธรรมดาแต่เราต้องเพิ่มรายจ่ายที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ (หักได้เพิ่มขึ้น) เช่น ค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนา ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างคนพิการ หรือค่าใช้ต่างๆที่กฎหมายกำหนดให้เป็นรายจ่ายได้มากขึ้นต่างหาก

 

 

 

ขอขอบคุณที่มา aommoney.com

เนื้อหาอื่นที่น่าสนใจ 

อ่านเพิ่มเติม Checklist รายจ่ายต้องห้าม ก่อนคำนวนภาษี