ถาม-ตอบ ธุรกิจฝากขาย

คำถาม กิจการประกอบธุรกิจฝากขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า โดยจะได้รับเงินจากการขายเมื่อห้างสรรพสินค้าได้ขายสินค้าแล้ว

1. กิจการเปิดใบกำกับภาษีขายและนำส่งภาษีเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าถูกต้องหรือไม่
2. ตามมาตรฐานบัญชีกิจการจะบันทึกบัญชีขายเมื่อห้างสรรพสินค้าสามารถขายสินค้าได้ กิจการจะยังไม่รับรู้รายได้เมื่อส่งมอบสินค้าฝากขายให้แก่ห้างสรรพสินค้าเป็นการถูกต้องหรือไม่
3. กิจการต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 โดย
3.1 ยึดถือรายได้ตามแบบ ภ.พ.30 หรือยึดถือรายได้ตามบัญชี
3.2 หากยึดถือตามแบบ ภ.พ.30 กิจการจะกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 ในส่วนรายได้และต้นทุนขายอย่างไร
3.3 หาก ภ.ง.ด.50 และงบการเงินมีรายละเอียดไม่ตรงกัน จะเป็นเหตุให้กิจการถูกออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบหรือไม่

วิสัชนา:
1. กรณีกิจการได้ฝากขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า หากมิได้ทำสัญญาโดยกิจการผู้ฝากขายสินค้าแต่งตั้งให้ห้างสรรพสินค้าเป็นตัวแทนเพื่อขายสินค้า ตาม ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้าจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า ตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
    ”(1) การขายสินค้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
        (ก) โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
        (ข) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
        (ค) ได้ออกใบกำกับภาษี”
ดังนั้น กรณีกิจการฝากขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าโดยไม่มีการทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนเพื่อขายตามที่อธิบดีกรมสรรพกรกำหนด การส่งมอบสินค้าไปยังห้างสรรพสินค้าโดยเจ้าของสินค้า จึงถือเป็นการขายสินค้า กิจการจึงต้องนำมูลค่าการขายสินค้าดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกิจการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีขายและนำส่งภาษีเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าถูกต้องแล้ว

ข้อมูลอ้างอิง https://www.rd.go.th/54151.html

กรณีผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำสินค้าไปฝากขาย ณ ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เมื่อผู้ผลิตสินค้าส่งมอบสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลคาเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ผลิตสินค้ามีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร

เว้นแต่

ผู้ผลิตสินค้าจะทำสัญญาแต่งตั้งให้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อเป็นตัวแทนตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้า ตามมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วยที่แนบ) ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ผลิตสินค้า จึงจะเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 78 (3) แห่งประมวลรัษฎากร”

 

2. ในทางบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 การรับรู้รายได้จากการขายสินค้า กิจการต้องรับรู้รายได้จากการขายสินค้าเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขครบถ้วนทุกข้อดังต่อไปนี้
“1. ผู้ขายต้องโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว
 2. ผู้ขายไม่เกี่ยวข้องในการบริหารสินค้าอย่างต่อเนื่องในระดับที่เจ้าของพึงกระทำหรือไม่ได้ควบคุมสินค้าที่ขายไปแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม
 3. ผู้ขายสามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้อย่างน่าเชื่อถือ
 4. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอน ที่ผู้ขายจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น
 5. ผู้ขายสามารถวัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากรายการบัญชีนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ”

ดังนั้น กิจการจะยังไม่รับรู้รายได้เมื่อส่งมอบสินค้าฝากขายให้แก่ห้างสรรพสินค้าเป็นการถูกต้องแล้ว โดยกิจการต้องรับรู้รายได้จากการฝากขายก็ต่อเมื่อผู้รับฝากขายได้ขายสินค้าให้กับผู้ซื้อแล้ว ตามเงื่อนไขที่อ้างอิงข้างต้น

 

3. ในทางภาษีอากร

“ตามการสอบถามในข้อ 2 ตามมาตรฐานบัญชีกิจการจะบันทึกบัญชีขายเมื่อห้างสรรพสินค้าสามารถขายสินค้าได้ กิจการจะยังไม่รับรู้รายได้เมื่อส่งมอบสินค้าฝากขายให้แก่ห้างสรรพสินค้าเป็นการถูกต้องหรือไม่และ 3.3 หาก ภ.ง.ด.50 และงบการเงินมีรายละเอียดไม่ตรงกัน จะเป็นเหตุให้กิจการถูกออกหมายเรียกเพื่อทำการตรวจสอบหรือไม่”

ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนฝากขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า ดังนี้
    ”ข้อ 2 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
    ข้อ 3.3. การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการฝากขายสินค้า ซึ่งผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ทำหน้าที่ขายสินค้าแทนผู้ฝากสินค้า (Consignor) ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้อนำรายได้จากการขายสินค้ามารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการฝากขายสินค้า
            กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการฝากขายสินค้าตามวรรคหนึ่งได้ทำสัญญาการตั้งตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) เพื่อขายเป็นหนังสือ โดยตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignor) ได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จตามที่กำหนดไว้ในสัญญา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะคำนวณรายได้เมื่อตัวแทนผู้รับฝากสินค้า (Consignee) ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อก็ได้”
    ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
    (1) กรณีไม่มีการทำสัญญาแต่งตั้งห้างสรรพสินค้าเป็นตัวแทนผู้รับฝากสินค้า กิจการต้องรับรู้รายได้จากการส่งสินค้าเพื่อฝากขายสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้ของกิจการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้น (ต้นทุนสินค้า) ของรายได้นั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน
    (2) เนื่องจากหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ตามมาตรฐานการบัญชี และทางภาษีเงินได้นิติบุคคลมีความแตกต่างกันดังกล่าว ย่อมเป็นผลให้งบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และรายการในแบบ ภ.ง.ด.50 มีความแตกต่างกัน ซึ่งกิจการจะต้องมีรายการปรับปรุงการร้บรู้รายได้ทางบัญชี ให้เป็นรายได้ทางภาษีอากร โดยแสดงรายการปรับปรุงให้เห็นชัดแจ้งในแบบ ภ.ง.ด.50 เพื่อพร้อมรับการตรวจสอบความถูกต้องของการชำระภาษีของเจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากร ก็ไม่ต่องมีความกังวลใจใดๆ อีกต่อไป เพราะการตรวจสอบของกรมสรรพากร เป็นเพียงหน้าที่ของทางราชการ ซึ่งจะกระทบกิจการหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กันหลากหลายปัจจัย

 

ที่มา อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ และ กรมสรรพากร