คิดแบบนี้! ธุรกิจไม่มีวันเจ๊ง

     วันนี้เราเปิดหัวด้วยชื่อเรื่องแบบโดน ๆ กับประโยคที่เราหลายคนกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทำธุรกิจอย่างไรให้รอด วันนี้เลยจะมาแชร์ว่า ผู้ประกอบการที่พาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จหรืออยู่รอดกันในยุคนี้ พวกเขาคิดอะไร หรือทำแบบไหนจึงอยู่รอดได้

     จริง ๆ สิ่งที่พวกเขาคิดหรือกระทำมีมากมาย แต่จะขอเอาสรุปแบบเน้น ๆ สัก 3 ข้อที่พบบ่อยที่สุด แล้วเรียกได้ว่า ผู้อ่านทุกท่านที่เป็นผู้ประกอบการหรือสนใจอยู่

     ลองคิดแค่ 3 ข้อนี้ ก็พาธุรกิจก้าวข้ามคำว่าเจ๊งได้เลย มาลองอ่านกัน

 

     1. ยึดมั่นในหลักการของธุรกิจแต่ไม่ยึดติดในวิธีการ

ผู้ประกอบการที่พาธุรกิจก้าวข้ามผ่านคำว่าเจ๊ง หรือสร้างธุรกิจให้เป็นที่รู้จักได้ และประสบความสำเร็จ พวกเขาคิดและกระทำเสมอในเรื่องของการยึดมั่นในหลักการของธุรกิจ พวกเขาคิด ค้นหา และสร้างตัวตนของธุรกิจให้ชัดเจนว่า "ธุรกิจเกิดมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า" และการแก้ไขปัญหานั้นพวกเขาเลือก Solution ที่ตนเองเก่งและเจ๋งที่สุด เรียกว่า คิดเสมอว่าตนเองเก่งอะไรก็ทำอันนั้น ยกย่องและเชิดชูสิ่งนั้นให้เด่นชัดในสายตาของลูกค้า เช่น ธุรกิจมีความสามารถเรื่องของการบริการ ก็ใช้การบริการนำหน้าการแข่งขันอื่น ๆ ถ้ามีความสามารถด้านความรวดเร็ว ก็ใช้ความรวดเร็วเป็น Core Competency หรือสมรรถนะหลักในการแข่งขันทางธุรกิจ

ผู้ประกอบการที่ดีจึงยึดมั่นในหลักการหรือความสามารถของธุรกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยยึดติด นั่นคือ วิธีการ หรือการปฏิบัติ พวกเขาพร้อม Change หรือเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ วิธีการของการแข่งขันทางธุรกิจจึงปรับเปลี่ยนสลับไปมาได้เสมอ ไม่ใช่ยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ ที่เคยใช้ไปแล้ว คู่แข่งขันเห็นภาพหมดแล้วแบบรู้ไส้รู้พุง รวมถึงลูกค้าก็เบื่อแล้วด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ยอดเยี่ยม เราจะพบว่าพวกเขาสรรหาวิธีการทำธุรกิจแบบใหม่นำเสนอในสายตาลูกค้าเสมอ และมันสร้างความแปลกใจให้กับคู่แข่งขัน เพราะคิดตามแทบไม่ทัน เรียกว่าปรับเปลี่ยนจนเกิดความปั่นปวนในสมองของคู่แข่งขัน และปาดหน้าคว้าชัยชนะไปที่สุด

ดังนั้นผู้ประกอบการและธุรกิจที่ยอดเยี่ยมพวกเขาจะยึดมั่นในหลักการ ตัวตน หรือความสามารถหลักของธุรกิจเสมอ มุ่งมั่นและพัฒนาสิ่งนั้นให้เหนือกว่ายิ่งขึ้น ๆ ในทุก ๆ วัน เรียกว่า พวกเขาเก่งในสิ่งที่เป็นมากขึ้น และพัฒนาวิธีการใช้งานความเก่งนั้นเสมอจนคู่แข่งขันตามไม่ทัน และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า พวกนี้จึงเป็น Order Winner หรือผู้ชนะในตลาด

     2. ให้ความสำคัญกับการหยุดพักและคิดให้คมมากขึ้น

โลกของการแข่งขันทางธุรกิจ เป็นอะไรที่วุ่นวาย หรือเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุก ๆ วัน ผู้ประกอบการ ทีมงานและธุรกิจ คิดจนสมองแทบแตกในแต่ละวินาที เพื่อสร้างแนวทางแก้ไขปัญหาหรือหาทางออกให้กับการดำเนินงานทางธุรกิจ เพื่อยกระดับการดำเนินกลยุทธ์และสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นกับลูกค้าของพวกเขา ยิ่งการเป็นผู้ประกอบการจะทำให้คุณต้องคิดแบบ 24/7 (24 ชั่วโมงต่อวันและ 7 วันต่อสัปดาห์) คุณและทีมงานแทบไม่มีเวลาพักที่จะคิดเลย แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนำมาใช้ คือแนวคิดแบบคิดจะพักคิดถึง Kit Kat เดี๋ยว ๆ หมายถึง รู้จักพัก นั่นเอง

เมื่อความวุ่นวายในการคิดกลยุทธ์เกิดขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พวกเขาจะไม่ใช่กระต่ายตื่นตูม ที่รีบแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วเสมอไป บางครั้งผู้ประกอบการจะหยุดนิ่งไปสักพัก หรืออาจจะพักใหญ่ ๆ เลย การหยุดนิ่งทำให้เกิดสมาธิและโฟกัสในเรื่องที่สนใจมากขึ้น พวกเขาจะหยุดนิ่งและใช้เวลาในการคิดให้คมขึ้น

ลองนึกภาพเวลาคนที่กำลังเล่นหมากรุก นักหมากรุกชั้นเซียนจะเดินเกมอย่างรวดเร็วถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทั้งการสร้างกับดักให้คู่แข่งขันเดินตาม การเดินเพื่อปิดมุม หรือสร้างช่องทางในการรุกฆาตมันไม่ได้ต่างกับการทำธุรกิจเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่คู่แข่งขันไหวตัวทันและเปลี่ยนเกมบนหน้ากระดานได้ นักหมากรุกชั้นเซียนจะใช้เวลามากขึ้น พวกเขาจะนิ่งเงียบอย่างสงบ ภายใต้ความสงบนั้นพวกเขาจะดำดิ่งลงไปในก้นบึ้งของสมองและจิตวิญญาณ เพื่อที่จะคิดให้ลึกขึ้น รอบคอบขึ้น และขัดเกลาความคิดอย่างแหลมคม ทำให้หมากตาต่อไปที่เขาเดินสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และเปลี่ยนหน้ากระดานไปสู่เส้นทางใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เขาต้องการเช่นเดิม นั่นคือ ชัยชนะ

     3. หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น

ผู้ประกอบการที่ยอดเยี่ยม พวกเขาไม่ใช่นักรบในรูปแบบ Viking ที่จะวิ่งเข้าชนกับทุกปัญหา หรือตัดสินกันแบบนักรบทุกสมรภูมิ พวกเขาระลึกเสมอว่าเมื่อใดควรชนด้วยพละกำลัง เมื่อใดควรใช้สมอง เมื่อใดควรนิ่งสงบ และเมื่อใดควรหนี ไม่ใช่ทุกครั้งที่ธุรกิจจะต้องทำอะไรเท่ห์ ๆ หรือเสี่ยง ๆ เสมอไป บางครั้งการวิ่งหนี หรือหลบหนีความเสี่ยงอาจดีกว่าในบางสถานการณ์ อย่างน้อยมันก็ทำให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงที่ไม่ควรทำอะไร และรอวันที่จะเก็บเกี่ยวผลลัพธ์อาจดีกว่าด้วยซ้ำไป

ช่วงที่ตลาดขาลง ผู้ประกอบการและธุรกิจที่ดี อาจเลือกที่จะไม่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือลงทุนอะไรใหม่ในการสร้างยอดขายเพิ่ม งดการใช้จ่ายเงินในการสร้างยอดขายที่มีความเสี่ยงหรือไม่รู้ว่าผลลัพธ์หรือผลตอบแทนจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ พวกเขาจะเลือกเส้นทางที่ดูง่ายกว่า ถึงแม้ไม่เท่ห์แต่ก็ไม่อดตาย เช่น การขุดของเก่ามาขาย หรือการเอากลยุทธ์เก่าที่เคยประสบความสำเร็จมาใส่ตะกร้าล้างน้ำแล้วลองขายใหม่ เพราะสินค้าหรือสิ่งที่คนเคยรู้จักและมีภาพลักษณ์ที่ดีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมันใช้งบประมาณการตลาดที่น้อยกว่า บวกลบคูณหารแล้วยังเห็นกำไรขั้นต้น ๆ เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการทดลองอะไรที่เสี่ยง ๆ ในช่วงที่ตลาดขาลงหรือตลาดยังไม่พร้อม

นึกภาพตามง่าย ๆ เช่น การจัดคอนเสิร์ต Reunion ของศิลปินเก่า ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จมาเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขามีชื่อเสียงติดตัวอยู่ ฐานลูกค้าก็มีมากพอตัว และฐานลูกค้าเป็นกลุ่มวัยทำงานที่อย่างน้อยในช่วงตลาดขาลงกลุ่มนี้ก็มีเงินพอที่จะสนองความต้องการหรือเติมเต็มช่วงของวัยรุ่นที่ขาดหายไป การเลือกวงดนตรี หรือนักร้องที่มีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นเป็นทุนเดิมตามมาด้วยยอดขายบัตรที่หมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว

 

     ถ้าความต้องการยังอยู่ก็เพิ่มรอบเพื่อโกยเงินต่อ ขณะเดียวกันศิลปินเหล่านั้นก็เขาสู่ช่วงขาลงทางอาชีพ ไม่ได้เป็นดาวดังเหมือนสมัยก่อน เรื่องค่าตัวก็ต่อรองกันได้ง่ายหน่อย ต้นทุนจึงไม่มากเท่าใดแต่รายได้เป็นกอบเป็นกำแน่ ๆ หักลบกลบกันแล้วก็กำไรบน Bottom line เห็น ๆ

 

ที่มา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - DIProm