ความผิดพลาดเรื่องเงินของคน ทำธุรกิจ ที่ไม่ควรทำผิดซ้ำรอย
หลายคนกระโดดเข้ามา ทำธุรกิจ เพราะอยากจะมีอาชีพใหม่หรือร่ำรวยมากขึ้น แต่สุดท้ายไปไม่รอด ทั้งที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่พอมาดูกำไรแล้วต้องถามตัวเองตลอดว่าเงินหายไปไหน เรารวบรวมความผิดพลาดทางการเงิน ที่หลายคนมักมองข้าม เพราะมัวไปโฟกัสเรื่องการบริหารและการตลาด จนลืมไปว่าสิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้จริงๆ คือเรื่องการเงิน
-
เลือกทำธุรกิจที่มาร์จินต่ำ
-
เอาเงินตัวเองไปปะปนกับเงินกิจการ
-
มีเงินไม่พอหมุนเวียนกิจการ
-
กู้สินเชื่อผิดประเภท
-
บริหารต้นทุนขาดประสิทธิภาพ
1. เลือก ทำธุรกิจ ที่มาร์จินต่ำ
ให้ลองดูว่าธุรกิจกลุ่มไหนที่ส่วนต่างกำไรต่ำ กำไรบางมาก เราบริหารงานพลาดนิดหน่อยมันกินเนื้อเข้าไปแล้ว จะเริ่มสะท้อนได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่น่าไปทำ
ถ้าจะเริ่มธุรกิจสักอย่างให้ดูสเกลด้วย ดูว่ากลุ่มลูกค้าที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการของเรามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดว่าสเกลเราใหญ่พอ มาร์จินอาจจะไม่ต้องมากก็สามารถมั่งคั่งได้
ธุรกิจที่มาร์จินสูง ถ้าเป็น Gross Margin หรือกำไรขั้นต้น 20-30% ถือว่าดีเลย เช่น ธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจที่ตั้งราคาได้ตามความพอใจ
ปัจจุบันมีคนทำธุรกิจหลากหลาย แต่คนส่วนใหญ่เวลาจะไปทำธุรกิจชอบมองว่าคนอื่นทำอะไร เขาทำอะไรแล้วรวยเราก็กระโดดลงไปทำตามเขา กระโดดลงไปมากๆ ก็แน่นตลาดจะทำให้เราเสียโอกาสได้
เราทำธุรกิจที่เป็นนีชก็สามารถสร้างรายได้และมั่งคั่งได้ เช่น เขาทำธุรกิจรับ-ส่งศพชาวต่างประเทศกลับบ้าน ปัจจุบันมีคนต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเยอะ บริการนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งรับทำทั้งฌาปนกิจ พิธีกรรมทางศาสนา เดินเรื่องนำศพข้ามประเทศ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจรับศพคนไทยจากต่างประเทศมาเมืองไทยด้วย
ลองตั้งโจทย์ว่าถ้าเราทำธุรกิจปีนี้ แล้วตั้งใจว่าอยากได้กำไรสัก 1 ล้านบาท คำถามคือ ถ้าเราขายสินค้าได้กำไรชิ้นละ 1 บาท เราต้องขายถึง 1 ล้านชิ้น การผลิตสินค้ามากขนาดนั้นแล้วกระจายให้คนมันไม่ง่าย แต่ถ้าปรับมาขายของกำไรชิ้นละ 10 บาท เรากระจายไปที่คนแค่หนึ่งแสน หรือถ้ากำไรชิ้นละ 1,000 บาท มันก็จะเหลือแค่ 1,000 คน เพราะฉะนั้นมันก็แตกต่างกัน
2. เอาเงินตัวเองไปปะปนกับเงินกิจการ
ที่เจอเยอะมากคือกลุ่มที่ขายของออนไลน์ พอขายปุ๊บ เราเริ่มๆ รีบๆ เอาบัญชีส่วนตัวที่เคยเปิดไว้ มาเป็นบัญชีที่รับออเดอร์จากลูกค้า
เรื่องที่ชอบและอยากเล่าเป็นเรื่องของคนหนึ่งที่ทำธุรกิจขายของเก่า ซื้อแอร์เก่ามาแล้วแกะชิ้นส่วนมาขาย ซื้อของไม่ใช้แล้วมาแกะชิ้นส่วนแยกขาย เขาเคยมาปรึกษากับโค้ชแล้วก็เริ่มธุรกิจโดยการกู้เงิน 10 ล้านบาท ด้วยการเอาบ้านไปเข้าแล้วได้วงเงินเบิกเกินบัญชี ที่เรียก Overdraft หรือ OD แล้วก็เริ่มทำกิจการ ผ่านไป 20 กว่าปี เขาสงสัยว่าทำไมธุรกิจเขาก็ดี แต่สุดท้ายแล้วทำไมหนี้เขาเพิ่มขึ้น กำไรมีทุกเดือนโดยไม่ต้องกู้ แต่ไปๆ มาๆ เขาต้องกู้ตลอด จาก 10 เพิ่มเป็น 20 ล้าน โค้ชเลยถามว่าเคยแยกบัญชีไหม เขาบอกว่าไม่เคย เลยถามว่าปัจจุบันให้เงินเดือนตัวเองเท่าไร เขาบอกไม่ได้ให้ ก็เอาเงินจากรายได้มากินอยู่ใช้จ่าย วันนี้ขายของได้เงินมา วันนี้ต้องเอาเงินไปจ่ายตลาดก็เอาเงินก้อนนี้ไป
ถ้าเราทำธุรกิจแล้วไม่รู้ว่ารายได้ของเราเท่าไร อันนี้มีปัญหา เพราะคนทำธุรกิจจะมีรายได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือเราตั้งเป็นเงินเดือนให้กับตัวเอง เพราะวันหนึ่งธุรกิจเราใหญ่ เราอาจจะไม่ได้อยู่บริหารธุรกิจของเราเอง เราจะได้รู้ว่าคนที่มาทำแทนเราควรจะให้เขาเท่าไร อีกอย่างการไม่กันให้ตัวเองแล้วหยิบจากตรงกลางมากิน สุดท้ายจะกลายเป็นกินต้นทุน
โค้ชให้เขาลองแยกรายรับ-รายจ่ายธุรกิจ ปรากฏว่ากำไรเดือนละแสนกว่าบาท แต่ครอบครัวกินเดือนละ 2 แสนบาท แต่ไม่เคยรู้ ธุรกิจไปได้ดีก็เลยกินเต็มที่ พอเกินปุ๊บแล้วถึงงวดที่ต้องมารับซื้อของ เงินไม่มีก็เอาเงินจาก OD กู้เพิ่มแบบนี้ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง ควรแยกบัญชีให้ชัดเจน
3. มีเงินไม่พอหมุนเวียนกิจการ
เวลาวางแผนธุรกิจคนชอบคิดแค่ว่า ต้องมีเงินเริ่มต้นเท่าไรถึงจะพอ เช่น อยากจะเปิดร้านก็มานึกเลยว่าอุปกรณ์ในร้านมีอะไรบ้าง ค่าเช่าต้องเตรียมไว้เท่าไร มัดจำล่วงหน้าเท่าไร มีของปุ๊บ เปิดร้านลุยเลย ไม่ได้เตรียมเงินหมุนเวียน อันนี้ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องควรมีเงินหมุนเวียนกิจการ 1 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะบางธุรกิจมาถึงแล้วตูมตาม หรืออย่างน้อยที่สุดมี 2-3 เดือนให้ลูกค้าเริ่มรู้จักและติด
สิ่งที่เราต้องทำตอนเริ่มต้นกิจการให้เรานั่งประมาณการรายรับ-รายจ่าย หรือ ประมาณการกำไร-ขาดทุน ตอนที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องธุรกิจใหม่ๆ โค้ชก็เคยร่วมกับเพื่อนทำกิจการเหล่านี้เหมือนกัน เวลาเราไปดูทำเล เพื่อนเป็นคนละเอียดมาก คือไปนั่งอยู่แถวนั้นเลย สมมติไปเปิดใต้ออฟฟิศหนึ่งก็จะไปนั่งอยู่ข้างใต้ตึก ก็จะเช็กเวลาว่าตั้งแต่ 9-10 โมงมีคนผ่านเท่าไร ตอนเที่ยงมีคนผ่านเท่าไร จากนั้นก็มาคำนวณคร่าวๆ ว่าคนที่เดินผ่าน ซื้อกาแฟของเรา 1% 5% หรือ 10% เหมือนการทำนายรายรับ 3 สถานการณ์ ถ้าขายไม่ดี ขายปานกลาง และขายดี น่าจะได้ประมาณเท่านั้นเท่านี้ ที่ต้องมี 3 อย่าง เพราะขายดีทำไว้ให้รู้ว่ากำไรจากการทำธุรกิจมันจะประมาณเท่าไร เบ็ดเสร็จแล้วคุ้มค่าเหนื่อยเราหรือเปล่า อย่างแย่ๆ ดูเพื่อว่ามันรอดไหม ก็แสดงว่าธุรกิจนี้ความเสี่ยงต่ำ ส่วนตรงกลางๆ หรือที่น่าจะเป็นไปได้ เอาไว้คำนวณว่าเอาจริงๆ โอกาสในการขายจริงๆ ประมาณเท่าไร มีระยะเวลาในการคืนทุนเท่าไร
คนทำธุรกิจแล้วเจ๊งส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ เข้าข้างตัวเองคิดรายได้เกินจริง ในขณะเดียวกันอีกด้านคือคิดรายจ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง กลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเลย เหมือนศึกษาธุรกิจยังไม่ดีพอ พอเข้าไปทำก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น เริ่มต้นคิดว่าอะไรก็ทำเองหมด อย่าเพิ่งไปจ้างใคร ทำไปทำมาขายดี พอเริ่มขายดีจะจ้างคนอื่น ก็ไม่ได้คิดเตรียมเงินส่วนนี้ไว้อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
เวลาเราทำธุรกิจไปสักพัก มีกำไร อย่าลืมทยอยกันเงินหมุนเวียนสำรองไว้ เมื่อจบปีเรามีกำไรเหลืออยู่เท่าไร ถ้าเกิดต้องทำอะไรปีหน้า จะได้ไม่ต้องกู้เขาทั้งหมด เพราะถ้ากู้ปุ๊บจะมีเงินที่เรียกว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจใหญ่เขาจะมีการคาดการณ์ รายรับ-รายจ่าย พอธุรกิจเล็กๆ เราไม่ทำ พอไม่ทำเราไม่รู้ ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีต้นทุน ต้องใช้ทุนหมุนเวียนต้องพิจารณาและระมัดระวัง
4. กู้สินเชื่อผิดประเภท
ยกตัวอย่างเช่น พอเงินขาดมือแล้วเปิดวงแชร์ อันนี้เป็นเรื่องฮิตของคนรุ่นเก่าเลย เรียกเพื่อนระดมทุนกันใครอยากเล่นแชร์บ้างเพื่อได้เงินก้อนหนึ่งเอามาจ่ายในกิจการ และบางทีไหลไปนอกระบบเลยก็มี บางคนทำธุรกิจออนไลน์ก็ใช้บัตรเครดิตรูด แล้วเหมาของมาสต๊อกเอาไว้ ธุรกิจกลุ่มที่ต้องสต๊อกสินค้านี่ก็ต้องระมัดระวัง เล่นสต๊อกกันไว้เยอะๆ ปุ๊บ กะว่าจะขายได้ สุดท้ายขายไม่ออก อันนี้ก็พังเหมือนกัน
คนส่วนใหญ่พอมีปัญหาเรื่องเงินขาด มักจะคิดเองหาเอง บางครั้งเราสามารถเดินเข้าไปคุยกับธนาคารได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนหนึ่งเปิดเป็นธุรกิจนำเข้าฮาร์ดแวร์และเขียนโปรแกรมต่างๆ วันดีคืนดีก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทโซนี่ เขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสั่งของมาเยอะมาก เลยไปคุยกับซัพพลายเออร์ เขาก็ให้วงเครดิตได้บางส่วน ถ้าจะสั่งเยอะขนาดนี้ที่เหลือก็ต้องใช้เงินสด เคสนี้ขอเท่าไรก็ไม่ได้ ได้มาประมาณครึ่งเดียว โค้ชเลยบอกว่าให้ลองเข้าธนาคารเพื่อถามหาสินเชื่อ Factoring ขอให้เรามีหลักฐานยืนยันว่าบริษัทชั้นนำเขาจะซื้อของกับเราจริงๆ อย่างเคสนี้ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ขอใบสั่งซื้อสินค้า หรือ PO เราสามารถเดินเข้าไปในธนาคารแล้วพูดคุยว่าบริษัทนี้จะซื้อของเรา แล้วก็มีนัดหมายส่งของกันชัดเจน ตัว PO ตรงนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดึงเงินไปใช้ก่อนล่วงหน้าได้ อันนี้เป็นเรื่องที่คนไม่รู้ แต่ธนาคารมีคิดค่าธรรมเนียม มันเป็นเรื่องที่ถ้าเรามีความรู้ทางด้านการเงิน และมีความพยายามหน่อย เราอาจจะหาแหล่งเงินที่เหมาะสมได้ และมีต้นทุนที่ไม่แพงเกินไป
“หัวใจสำคัญของผู้ประกอบการคือต้องวิ่ง ต้องสู้ เงินขาดต้องหา แต่ต้องหาอย่างฉลาด ไม่ใช่ได้อะไรก็คว้าเอามาหมด แล้วจะมาปวดหัวทีหลัง”
5. บริหารต้นทุนขาดประสิทธิภาพ
สมัยที่โค้ชเป็นวิศวกร เคยรับเป็นที่ปรึกษาด้านลดต้นทุน เข้าไปโรงงานผลิตเสื้อผ้า ชุดชั้นในสตรี เขาถามว่าจะลดค่าใช้จ่ายอะไรดี ตอนนั้นสังเกตเห็นเศษผ้าเต็มพื้น เลยถามว่าเคยชั่งเศษผ้าบ้างไหม ว่ามีเหลือเท่าไร กี่กิโลกรัม พอมาดูด้วยสายตาว่าถ้าเอามันมาต่อกันน่าจะได้เสื้อหลายตัว พูดไปตรงนั้นเขาก็เริ่มเอะใจ เลยย้อนกลับไปดูว่าเรามีกระบวนการตัดชิ้นผ้าอย่างไร พอเข้าไปถึงได้เห็นว่าตัดกันตามใจฉัน เอาผ้ามาตัดแบบไม่ได้มีการกำหนดว่าผ้าผืนหนึ่งต้องตัดมุมไหน อย่างไรจะประหยัดที่สุด เชื่อไหมว่าเข้าไปแก้แค่นี้ลดต้นทุนไปได้เยอะมาก
เจ้าของกิจการบางคนได้ไอเดียมาผิดๆ ว่าจะลดทุกอย่าง ซึ่งบางทีมันไม่ได้อิมแพกต์ อย่างการไม่ให้ลูกน้องกินกาแฟ สูญเสียเรื่องกำลังใจอีกต่างหาก อันนี้มั่ว โค้ชกล้าพูดว่าไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาหรอก เจ้าของกิจการลองเดินตรวจดูระบบงานตัวเอง ลูกน้องทำงานกันอย่างไร เราก็จะเริ่มเห็นว่ามันมีความสูญเปล่าอยู่
ในบางกรณีเรื่องการปรับปรุงต้นทุนที่ขาดประสิทธิภาพก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน แต่อันนี้พิจารณาได้จากเวลาคืนทุน ยกตัวอย่าง เพื่อนคนหนึ่งทำธุรกิจสนามฟุตบอลให้เช่า โค้ชไปดูสนามและพูดคุยกับเขา ไปเจอว่าสนามเขาใช้หลอดไฟเปลืองไฟมาก ค่าไฟเดือนละ 40,000 บาท ผมก็ไปคุยว่าทำไมไม่เปลี่ยนเป็นหลอด LED ซึ่งให้แสงสว่างและประหยัดไฟ เขาก็ไปเรียกช่างมาเสนอ Quotation สุดท้ายค่าไฟเหลือแค่ 15,000 บาทต่อเดือน ลงทุน 200,000 กว่าบาท แต่แบบนี้สบาย ไม่ถึงปีก็คืนทุน ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ที่มา: THE STANDARD
การบริหารความสิ้นเปลืองและจุดรั่วไหลในองค์กร
ตอนที่ 2 สำหรับความผิดพลาดเรื่องเงินของคนทำธุรกิจ ที่ Money Coach ได้รวบรวมมาจากประสบการณ์ของตัวเองและจากคนที่มาปรึกษา เพื่อเป็นบทเรียน และแนวคิด จะได้ไม่ทำผิดซ้ำและทำธุรกิจเจ๊ง
1. ไม่มีระบบจัดการบัญชีที่ดี
คำว่าระบบบัญชีในที่นี้คือ การจัดเก็บเอกสารและข้อมูลทางบัญชี ซึ่งเอกสารบางอย่างถูกบังคับโดยหลักการทางการเงินหรือสรรพากรอยู่แล้ว เช่น บิล ใบเสร็จ ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่บางทีอาจจะต้องมีระบบบัญชีของเราเอง ที่ทำขึ้นมาเพื่อตรวจสอบกำไร ยอดขาย ต้นทุน ยกตัวอย่าง ถ้าเราเคยไปซื้อของตามร้านเก่าๆ ที่ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ เขาก็จะเอาสมุดบัญชีมาบันทึกว่าวันนี้ขายอะไร ราคาเท่าไร ลดให้เราเท่าไร ดูโบราณมาก แต่นี่คือการมีระบบทำบัญชีที่ดี เพราะเขารู้ว่าวันนี้ขายอะไรไปบ้าง ขายได้เท่าไร ต้นทุนของแต่ละชิ้นเท่าไร กำไรต่อวันเท่าไร สามารถเช็กได้เลย แล้วนำเงินมาบริหารจัดการได้สบายๆ
อีกเรื่องคือเอกสารทางบัญชีต่างๆ เก็บกันให้ดีๆ เพราะมีผลต่อบัญชีกิจการทั้งสิ้น ควรทำให้ถูกต้องตามเกณฑ์ โค้ชในฐานะคนหนึ่งที่ทำธุรกิจ บอกเลยว่า งานบัญชีเป็นงานจุกจิกวุ่นวาย ถ้าไม่วางระบบการจัดเก็บให้ดี ปลายเดือน ปลายปี ก็จะมีเรื่องให้ปวดหัวอยู่ตลอด และความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ สร้างผลเสียหายที่ใหญ่หลวงได้
2. บริหารเงินสดไม่เป็น
ยกตัวอย่าง ร้านยาร้านหนึ่งซึ่งเคยมาปรึกษากับโค้ช เขาเล่าให้ฟังว่าตอนเริ่มต้นทำร้าน แล้วลงทุนตกแต่ง เตรียมเงินไว้สำหรับเอามาซื้อยาเพื่อเอามาวางไว้ในร้าน ประมาณ 1 ล้านบาท เขาก็กันเงินไว้ 1 แสนบาท อีก 9 แสนบาทซื้อยามาใส่ร้าน นึกภาพว่าสต๊อกยา 9 แสนบาท พอขายมันก็จะได้กลับมามากกว่า 9 แสนเพราะมีกำไร พอเงินเยอะขึ้นก็ซื้อยาเพิ่ม ยาก็เลยเต็มร้าน เพราะกลัวว่าลูกค้ามาแล้วจะไม่ได้ยาที่ต้องการ แต่เขาลืมไปว่า เงินที่ได้มามันเป็นกำไรบางส่วน เขาก็ไม่ได้เก็บเลย กลายเป็นว่าได้เงินมาก็เอาไปซื้อของมาลงเพิ่มอีก สต๊อกก็บวมใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นการบริหารจัดการเงินเหมือนกัน ซึ่งมันน่าเสียดายถ้าเกิดว่าเราทำธุรกิจสุดท้ายแล้วเราไม่รวยขึ้น
ฉะนั้นคนที่ค้าขายแล้วสั่งซื้อของมาเป็นสต๊อกต้องบริหารจัดการให้ดี เมื่อไรที่ขายของแล้วได้เงิน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ แยกต้นทุนออกไปก่อน จะรู้ว่าขายอะไรไปได้บ้าง ต้นทุนเท่าไร เพื่อคืนทุนกลับเข้ามาในระบบ พอเหลือส่วนที่เป็นกำไร ก็เอาไปหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะเหลือเป็นกำไรสุทธิ จากนั้นค่อยถามตัวเองว่า กำไรตรงนี้จะเอาไปทำอะไรบ้าง ปันผลให้กับเจ้าของส่วนหนึ่ง หรือบางคนก็เก็บไว้ก่อนก็ได้ เพราะใช้วิธีการตัดเป็นค่าจ้างให้ตัวเองอยู่แล้วก็มี อย่างนี้จะคงที่ แล้วกำไรที่เหลือก็มาจัดสรรกันทีหนึ่ง
เราสามารถดึงเงินจากกิจการเราได้สองทางคือตั้งเป็นเงินเดือน และทำเป็นปันผล พอปันผลให้ตัวเองเหลือเท่าไรเอาตรงนั้นสำรองไว้เป็นเงินหมุนเวียน ไม่ใช้ก็ไม่เป็นอะไร เงินก้อนสำรองก็ไม่ต้องตั้งไว้เยอะ เราลองมองดูกิจการก็ได้ว่า เดือนๆ หนึ่งใช้เงินหมุนเท่าไร ถ้าเราอยากจะเซฟว่า 3 เดือนเราสามารถหมุนได้ เราก็ตั้งสำรองไว้ 3 เดือน บางคนอาจจะ 6 เดือนแล้วแต่กิจการ
3. ขยายกิจการเร็วเกินไป
การเติบโตเป็นเรื่องดี แต่ต้องไม่เร็วไปและไม่รีบร้อนจนเกินไป เหมือนเราโตเกินความสามารถของธุรกิจ หรือโตเกินขอบข่ายของการบริหารจัดการ เวลามีใครสักคนเปิดร้านสักร้าน เริ่มขายดี จะเริ่มมีคนถามกันว่า ขยายร้านเปิดสาขาไหม รวมไปถึงบางคนขายแฟรนไชส์เลย
เรื่องแฟรนไชส์ มีคนเข้าใจผิดพอสมควร เราลองนึกภาพของเซเว่น อีเลฟเว่น หรือเบอร์เกอร์คิงของเมืองนอก ที่มีระบบในการบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่การใช้ชื่อเดียวกัน หรือแค่สูตรเดียวกัน แฟรนไชส์จริงๆ แล้วคือระบบการตลาด การดำเนินงาน และการเงิน
การเปิดร้านแล้วเปรี้ยงขึ้นมา มีปัจจัยเยอะ ยกตัวอย่าง เอาธุรกิจจากกรุงเทพฯ มาทำในต่างจังหวัดแล้วเปรี้ยง เพราะมันเป็นของใหม่ แต่กลับกันธุรกิจบางอย่างเปรี้ยงในต่างจังหวัดแต่มาทำในกรุงเทพฯ ก็อาจจะพับกลับไปก็ได้
4. วางแผนภาษีให้ดี
พอมีรายได้เข้ามา สิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอนคือภาษี ซึ่งจะมี 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง ทำในนามบุคคล และ สอง จดเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งวุ่นวายต่างกัน หากทำในนามบุคคลมักจะอยู่ในรายได้กลุ่ม 40 (8) คือพวกค้าขายหักแบบเหมาได้สูงสุด 60% หรือหักค่าใช้จ่ายตามจริงถ้ามีบิลต่างๆ ก็ทำได้ ในอนาคตการทำกิจการคนเดียวกับเปิดบริษัทจะมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น เพราะมีไอเดียการเปิดบริษัทแบบคนเดียวได้แล้ว ถ้าเกิดเรา ทำธุรกิจ ค้าขายในนามบุคคล แล้วเราก็มีบิลต่างๆ ที่มาจากการซื้อขายเยอะพอสมควร อยากให้หักภาษีตามจริง เราก็ต้องเริ่มทำงบรายรับ-รายจ่ายเหมือนกัน ซึ่งจะคล้ายกับการเป็นนิติบุคคลแล้ว
คนทำธุรกิจชอบทำงบ 2 เล่ม เล่มหนึ่งเอาไว้ดูเอง อีกเล่มหนึ่งเอาไว้ให้สรรพากรดู โค้ชบอกเลยว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ก เพราะเท่าที่เจอ คนที่ทำ 2 เล่มก็จะไม่ดูทั้ง 2 เล่ม ที่ถูกต้องควรมีเล่มเดียวและเอาเล่มนั้นบริหารธุรกิจจริงๆ งบการเงินไม่ได้มีแค่ไว้ส่งสรรพากร มันมีประโยชน์ในการบริหารจัดการได้จริงๆ
เรื่องหนึ่งที่อยากแนะนำตอนเริ่ม ทำธุรกิจ คือ เราไม่ต้องไปรู้ทุกเรื่องก็ได้ แต่อยากให้มีที่ปรึกษา อาจจะมีบริษัทคนทำบัญชีหรือผู้ตรวจสอบที่ดี สามารถให้คำแนะนำทางภาษีได้ด้วย เพราะภาษีเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงตัวหนึ่งของกิจการ ลองนึกภาพว่าถ้าทำนิติบุคคลรายได้สูงหน่อย ภาษีประมาณ 20% เวลาเราทำเงินเดือนให้กับลูกน้อง ลองดูว่าเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ค่าน้ำค่าไฟเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่ารายจ่ายภาษีสูงพอสมควรเลย แต่รัฐเองก็ให้สิทธิเราบริหารจัดการให้เหมาะสมถูกต้อง รายจ่ายอะไรที่เกี่ยวข้องกับกิจการก็เอามาหักลดได้ ตรงนี้คนที่ทำเรื่องเอกสารต่างๆ เป็นระบบระเบียบเขาก็จะใช้สิทธิของเขาได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เรื่องภาษีไม่มีทริก ไม่ต้องพยายามติดต่อหาใครที่บอกว่า สามารถทำให้ประหยัดภาษีหรือจ่ายภาษีถูก แม้กระทั่งสอนเลี่ยงภาษีอย่าไปยุ่งเลย เพราะค่าปรับต่างๆ ไม่คุ้ม และไม่สบายใจหรอก
5. ยอมแพ้ให้เป็น
เมื่อไรที่ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะรอด ไม่เป็นไรไม่ต้องอายใคร เจ๊งคือเจ๊ง ไม่มีใครมาจำหรอกว่าเราเคยเจ๊งอะไร เขาจะจำว่าเราสำเร็จในธุรกิจอะไร แล้วเขาจะพูดชื่อธุรกิจนั้นต่อท้ายคุณ
ถ้าใครที่ทำแล้วขาดทุนมา 6 เดือน หรือ 1 ปี ถึงขั้นไฟแนนซ์เงินมาสู้กิจการ อยากให้ลองเอางบกำไร ขาดทุน ขึ้นมานั่งทำรายรับ-รายจ่าย ดูว่าที่ขาดทุนนั้น ต่อเดือน ต่อปีเท่าไร จากนั้นให้ลองดึงตัวที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นรูปดอกเบี้ย หรือเงินกู้ยืมเขาออกไป ถ้ามองเฉพาะเรื่องของผลการดำเนินงานอย่างเดียว ยอดขายหักลบกับต้นทุนกำไรหรือเปล่า ถ้าขนาดเอาค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยออกไปแล้วยังติดลบ แสดงว่ากิจการมันเริ่มไม่ดี อยู่รอดไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่เปลี่ยนไปขายอย่างอื่น ก็เลิกไปเลย
ที่ยากอีกกลุ่มหนึ่งคือธุรกิจบรรพบุรุษที่ส่งต่อกันมา มีความผิดในใจมาก หากมาล่มในมือเรา ต้องบอกว่ามันไม่ผิด มันเป็นไปได้ เพราะโลกมันเปลี่ยนแล้ว สมัยอาก๋งทำแล้วรวย แต่สมัยนี้มันอาจจะไม่ได้ เพราะตลาดเปลี่ยน สินค้าเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน ต้องยอมรับ เวลาโค้ชได้คุยกับคนที่มีปัญหากับธุรกิจนานๆ แล้วดูกำไรจากการดำเนินงานพบว่ายังติดลบอยู่ โค้ชจะแนะนำให้ตั้งโจทย์ดูว่าครึ่งปีไหวไหมที่จะสู้ต่อ ถ้าไม่ไหวให้เลิก เชื่อไหมว่าแทบจะ 100% ต้องเลิก แต่พอได้เลิก สิ่งที่แปลกมากคือทุกคนมีความสุข เพราะเรารู้จักหัดยอม คนเราแค่นี้จริงๆ ถ้าฝืนจะเจ็บเพิ่มขึ้น ไม่คุ้ม ธุรกิจที่ไปไม่ได้ยิ่งทำยิ่งจน
นี่คือสิ่งที่โค้ชพบเจอมาตลอดการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจ SMEs ที่เริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเอง หรือบางคนทำงานประจำแล้วมีธุรกิจเสริม อย่ามองว่าเป็นธุรกิจเล็กๆ แล้วไม่ต้องใส่ใจอะไรมาก
“อย่างที่โค้ชย้ำตลอด การตลาดทำให้ธุรกิจเติบโตมีคนรู้จัก การดำเนินงานทำให้ธุรกิจสามารถบริหารในชีวิตประจำวัน แต่การเงินคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเจ้าของมีความมั่งคั่ง”
ที่มา: THE STANDARD